ไวรัสโรต้า ตัวร้าย…ทำถ่ายไม่หยุด

ไวรัสโรต้า Rotavirus

ไวรัสโรต้า สาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงที่รุนแรงในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ไวรัสชนิดนี้ระบาดได้ตลอดทั้งปีและพบมากขึ้นในช่วงอากาศเย็น ฤดูหนาว

ไวรัสโรต้าติดต่อกันได้อย่างไร

การติดต่อเกิดจากได้รับเชื้อไวรัสโรต้าเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้ออาจปนเปื้อนมากับมือ สิ่งของ เครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆ รวมทั้งอาหารและน้ำ ผู้ป่วยที่เป็นโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าจะสามารถแพร่เชื้อออกมากับอุจจาระได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนเริ่มมีอาการจนกระทั่งหายอุจจาระร่วงไปแล้ว 10 วัน บางรายอาจแพร่เชื้อได้เป็นเดือน

อาการแบบไหนคือ อุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า

  • อาเจียน ส่วนใหญ่มักมีอาการอาเจียนนำมาก่อน
  • ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า แล้วหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา
  • อาจมีไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก และไอเล็กน้อยนำมาก่อน ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีไข้สูง และอาจมีอาการชักได้ ในเด็กเล็ก
  • คนที่ถ่ายเหลวมากๆ จะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตลดลง เกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตได้
  • สำหรับผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสโรต้า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอุจจาระร่วงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามสามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงได้เช่นกัน

อาการและลักษณะอุจจาระของโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าไม่ได้มีลักษณะจำเพาะ จึงไม่สามารถแยกจากการติดเชื้ออื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของอุจจาระร่วงได้ ต้องอาศัยการตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อไวรัสโรต้า

การรักษา

ปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะสำหรับไวรัสโรต้า การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคองตามอาการ หากอาการไม่รุนแรง สามารถรับประทานได้ อาจให้ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ให้ยาแก้อาเจียน ยาลดไข้ หากพบมีภาะพร่องเอนไซม์แลคเตส อาจพิจารณาเปลี่ยนนมเป็นนมที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส กินอาหารที่ย่อยง่าย และไม่มัน เช่น ข้าวต้ม

กรณีที่มีไข้สูง อาเจียนมาก รับประทานไม่ได้ อ่อนเพลีย ซึมลง ให้รีบพามาพบแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการสูญเสียน้ำรุนแรง จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำทดแทนทางเส้นเลือด

ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้และอาจก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาตามมา

วิธีป้องกันจากเชื้อไวรัสโรต้า

1. กินนมแม่ อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าได้

2. กินอาหาร และน้ำดื่มที่สะอาด

3. หมั่นล้างมือด้วยสบู่ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม

4. ทำความสะอาดของเล่น ที่เด็กอาจเอาเข้าปาก หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกัน

5. หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัดที่มีการเล่นร่วมกันในช่วงที่มีการระบาดของโรค

6. องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ เด็กเล็กทุกคนควรได้รับการหยอดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสต้า ตั้งแต่อายุ 2 เดือน โดยให้พร้อมกับวัคซีนอื่นๆ ตามวัย เด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครบแล้ว อาจยังเกิดโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ แต่อาการมักไม่ค่อยรุนแรงวัคซีนผลิตจากเชื้อไวรัสโรต้าที่ทำให้อ่อนฤทธิ์จนก่อโรคไม่ได้ เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน ปัจจุบันมี 2 บริษัทผู้ผลิต คือ RotarixTM หยอด 2 ครั้ง เมื่ออายุ 2 และ 4 เดือน และ RotateqTM หยอด 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน วัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงไม่แตกต่างกัน

แหล่งที่มา : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย , อ.ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ , กรมควบคุมโรค

Related Articles

29 กันยายน วันหัวใจโลก

29 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันหัวใจโลก (World Heart Day) จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรโลก

เที่ยวแบบที่สุดทั่วไทยสไตล์ Nurse

ใกล้จะสิ้นปีแล้ว ร่างกายต้องการพักผ่อน พี่เนิร์สได้รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยว ภูเขา ทะเล น้ำตก ให้ทุกคนได้เตรียมแพลนไปเที่ยว มีที่ไหนน่าสนใจบ้าง มาดูกันเลย!

RSV เชื้อไวรัสร้ายอาการคล้ายไข้หวัด

เชื้อไวรัส RSV เป็นโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาจมีอาการรุนแรงได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของลูกไว้ให้ดี เพราะถ้าลูกน้อยติดเชื้อ RSV อาจนำไปสู่โรคปอดอักเสบได้