ไวรัสโรต้า ตัวร้าย…ทำถ่ายไม่หยุด
ไวรัสโรต้า สาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงที่รุนแรงในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ไวรัสชนิดนี้ระบาดได้ตลอดทั้งปีและพบมากขึ้นในช่วงอากาศเย็น ฤดูหนาว
ไวรัสโรต้าติดต่อกันได้อย่างไร
การติดต่อเกิดจากได้รับเชื้อไวรัสโรต้าเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้ออาจปนเปื้อนมากับมือ สิ่งของ เครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆ รวมทั้งอาหารและน้ำ ผู้ป่วยที่เป็นโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าจะสามารถแพร่เชื้อออกมากับอุจจาระได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนเริ่มมีอาการจนกระทั่งหายอุจจาระร่วงไปแล้ว 10 วัน บางรายอาจแพร่เชื้อได้เป็นเดือน
อาการแบบไหนคือ อุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า
- อาเจียน ส่วนใหญ่มักมีอาการอาเจียนนำมาก่อน
- ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า แล้วหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา
- อาจมีไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก และไอเล็กน้อยนำมาก่อน ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีไข้สูง และอาจมีอาการชักได้ ในเด็กเล็ก
- คนที่ถ่ายเหลวมากๆ จะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตลดลง เกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตได้
- สำหรับผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสโรต้า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอุจจาระร่วงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามสามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงได้เช่นกัน
อาการและลักษณะอุจจาระของโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าไม่ได้มีลักษณะจำเพาะ จึงไม่สามารถแยกจากการติดเชื้ออื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของอุจจาระร่วงได้ ต้องอาศัยการตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อไวรัสโรต้า
การรักษา
ปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะสำหรับไวรัสโรต้า การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคองตามอาการ หากอาการไม่รุนแรง สามารถรับประทานได้ อาจให้ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ให้ยาแก้อาเจียน ยาลดไข้ หากพบมีภาะพร่องเอนไซม์แลคเตส อาจพิจารณาเปลี่ยนนมเป็นนมที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส กินอาหารที่ย่อยง่าย และไม่มัน เช่น ข้าวต้ม
กรณีที่มีไข้สูง อาเจียนมาก รับประทานไม่ได้ อ่อนเพลีย ซึมลง ให้รีบพามาพบแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการสูญเสียน้ำรุนแรง จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำทดแทนทางเส้นเลือด
ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้และอาจก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาตามมา
วิธีป้องกันจากเชื้อไวรัสโรต้า
1. กินนมแม่ อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าได้
2. กินอาหาร และน้ำดื่มที่สะอาด
3. หมั่นล้างมือด้วยสบู่ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม
4. ทำความสะอาดของเล่น ที่เด็กอาจเอาเข้าปาก หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกัน
5. หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัดที่มีการเล่นร่วมกันในช่วงที่มีการระบาดของโรค
6. องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ เด็กเล็กทุกคนควรได้รับการหยอดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสต้า ตั้งแต่อายุ 2 เดือน โดยให้พร้อมกับวัคซีนอื่นๆ ตามวัย เด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครบแล้ว อาจยังเกิดโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ แต่อาการมักไม่ค่อยรุนแรงวัคซีนผลิตจากเชื้อไวรัสโรต้าที่ทำให้อ่อนฤทธิ์จนก่อโรคไม่ได้ เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน ปัจจุบันมี 2 บริษัทผู้ผลิต คือ RotarixTM หยอด 2 ครั้ง เมื่ออายุ 2 และ 4 เดือน และ RotateqTM หยอด 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน วัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงไม่แตกต่างกัน
แหล่งที่มา : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย , อ.ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ , กรมควบคุมโรค