5 จุดอันตราย ที่ไม่ควรนวด

จากประเด็นข่าวเรื่องนวดแล้วเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต วันนี้พี่เนิสนำความรู้เรื่องนี้มาฝากกันค่ะ

  นวดแผนไทย หรือการใช้บริการของร้านนวดสปา จุดประสงค์หลัก ๆ ก็เพื่อดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจ ช่วยให้ผ่อนคลาย และหายจากอาการอ่อนเพลียหรือการเหนื่อยล้าจากการทำงาน การให้บริการสปาในบางประเภทจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสวยความงาม เช่น การนวดหน้าเพื่อบำรุงดูแลผิวพรรณ

ข้อห้ามในการนวดไทย

       ๑. ผู้ที่มีไข้สูงเกินกว่า ๓๘.๕ องศาเซลเซียส

       ๒. ผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคที่มีภาวะการณ์ติดเชื้อเฉียบพลัน

       ๓. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า ๑๖๐/๑๐๐ มิลลิเมตรปรอท ที่มีอาการหน้ามืด ใจสั่น ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน

       ๔. ผู้ที่มีบาดแผลเปิด แผลเรื้อรัง

       ๕. ผู้ที่มีรอยโรคผิวหนังที่สามารถติดต่อได้

       ๖. ผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บภายใน ๔๘ ชั่วโมง หรือได้รับการผ่าตัดภายในระยะเวลา ๑ เดือน

       ๗. ผู้ที่มีอาการหลอดเลือดดำอักเสบ (Deep Vein Thrombosis)

       ๘. ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนรุนแรง

       ๙. ผู้ที่มีกระดูกแตก กระดูกหัก กระดูกปริร้าว บริเวณที่ผ่าตัดใส่เหล็กหรือข้อเทียม

       ๑๐. บริเวณที่เป็นมะเร็ง

ข้อควรระวังในการนวดไทย 

       ๑. เด็ก ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ (กรณีของหญิงตั้งครรภ์จะต้องได้รับการนวดด้วยความระมัดระวัง)

       ๒. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า ๑๖๐/๑๐๐ มิลลิเมตรปรอท ที่ไม่มีอาการหน้ามืด ใจสั่น ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน

       ๓. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงโป่ง หลอดเลือดอักเสบ หลอดเลือดแข็ง

       ๔.ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

       ๕. ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน

       ๖. ผู้ที่มีประวัติเลือดออกผิดปกติ หรือรับประทานยาละลายลิ่มเลือด

       ๗. ผู้ที่มีภาวะข้อหลวม ข้อเคลื่อน ข้อหลุด

       ๘. ผู้ที่ยังไม่ได้รับประทานอาหาร หรือ หลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ไม่เกิน ๓๐ นาที

       ๙. ผู้ที่บาดแผลที่ยังหายไม่สนิทดี ผิวหนังแตกง่าย หรือได้รับการปลูกถ่ายผิวหนัง

        นอกเหนือจากข้อมูลที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น บางตำแหน่งของร่างกายต้องใช้ความระมัดระวังในการลงน้ำหนักเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีเส้นประสาท หรือหลอดเลือดสำคัญที่เลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตำแหน่งบริเวณขมับ ต้นคอ รักแร้ หากกดด้วยความรุนแรงหรือระยะเวลานานอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ หมดสติ หรือชาบริเวณแขนได้ ส่วนตำแหน่งท้อง หากพบว่าเป็นผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงโป่งพองในช่องท้อง จะเว้นการนวดบริเวณช่องท้อง เพราะหลอดเลือดอาจปริแตกได้ ดังนั้น ก่อนได้รับการนวดควรแจ้งประวัติสุขภาพ หรือโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง : https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1546

1.กลุ่มงานส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติการแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; ๒๕๕๒.

2.มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมฯ และโรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. หัตถเวชกรรมแผนไทย (การนวดไทยแบบราชสำนัก) ตอนที่ ๑: การนวดพื้นฐาน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; ๒๕๕๗.

Related Articles