เบาหวานอย่าเสี่ยงกับไข้หวัดใหญ่ดีกว่า

เบาหวานอย่าเสี่ยงกับไข้หวัดใหญ่ดีกว่า

จากข้อมูลสถิติของกรมควบคุมโรคและสมาคมการติดเชื้อแห่งประเทศไทยพบว่า ช่วงระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยเบาหวานมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น 5-15% และเข้านอนโรงพยาบาลสูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 6 เท่า จากการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่

วันนี้พี่เนิร์สจะมาอธิบายถึงความน่ากลัวของโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานให้ทราบกันค่ะ

ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร?

เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) มักจะแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็น 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ A, B, และ C และแต่ละสายพันธุ์ก็จะแยกย่อยอีก เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แยกเป็นชนิดย่อยอีก เช่น H1N1, H3N2, H5N1 หรือไข้หวัดนก เป็นต้น

อาการของไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัดธรรมดา มีไข้สูงนานหลายวัน (5-7 วัน) ไอ มีน้ำมูก คัดจมูก เจ็บคอ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ อาจมีท้องเสียร่วมด้วย แต่ไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน

เบาหวานอย่าเสี่ยงกับไข้หวัดใหญ่ดีกว่า

ทำไม ผู้ป่วยเบาหวาน ถึงต้องระวัง ไข้หวัดใหญ่ ?

  • น้ำตาลในเลือดรบกวนการทำงานของเม็ดเลือดขาว
  • ความสามารถในการทำลายเชื้อโรคลดลง ผู้ป่วยเบาหวานจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
  • มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนหลังติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในหูและไซนัส ปอดบวม ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจวาย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ผลกระทบของ การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ต่อ ผู้ป่วยเบาหวาน

  • โรคเบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia)
  • เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ก็จะไปรบกวนการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว มีผลกระทบทำให้ความสามารถในการกำจัดเชื้อโรคของเซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานได้น้อยลง
  • เมื่อระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ตามปกติ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง เพราะพวกเชื้อโรคมักจะเจริญเติบโตได้ดีในภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูง จึงส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่มีการติดเชื้อ ระดับน้ำตาลในเลือดจะผันผวนและควบคุมได้ยาก อาจทำให้โรคเบาหวานกำเริบและรุนแรง จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ เช่น ปอดบวม หูอักเสบ หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้

วิธีการป้องกันและการดูแลตัวเอง

  • ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 เข็มเป็นประจำทุกปี
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
  • หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ที่มา : โรงพยาบาลรามคำแหง, โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต, สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ

Related Articles

ทำความรู้จัก Burn Injury แผลไหม้

แผลไหม้ หมายถึง บาดแผลที่ผิวหนังถูกทำลายด้วยความร้อน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากถูกเปลวไฟลวก ถูกของเหลวร้อนลวก กระแสไฟฟ้าแรงสูง หรือสารเคมี ส่งผลทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า หนังแท้ หรืออาจลึกลงไปถึงกระดูกได้

Responses