มาตรฐานการให้ยาสำหรับพยาบาล

มาตรฐานการให้ยา-พยาบาล

การให้ยา เป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญสำหรับพยาบาล พยาบาลจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับขนาดยา กลไกการออกฤทธิ์ของยา พร้อมกับให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยที่ได้รับยาอย่างเหมาะสม

พี่เนิร์สจึงได้นำความรู้เกี่ยวกับ 10R มาตรฐานการให้ยาสำหรับพยาบาลมาฝากทุกคนได้ศึกษากันค่ะ

มาตรฐานการให้ยาสำหรับพยาบาล

มาตรฐานการให้ยาสำหรับพยาบาล

1) Right Drug/Medication (ให้ยาถูกชนิด)

  • ตรวจสอบความถูกต้องของยา ทั้งชื่อยา รูปร่างของยา ภาชนะที่บรรจุ เพราะยาบางชนิดมีชื่อที่คล้ายกัน ลักษณะที่คล้ายกัน ภาชนะบรรจุที่คล้ายกัน อาจทำให้สับสนและให้ยาผิดได้ จึงต้องตรวจสอบทุกครั้งก่อนให้ยา
  • หน่วยงานมีการกำหนดมาตรการในการป้องกันของยาที่มีชื่อคล้ายกัน ลักษณะคล้ายกัน ภาชนะบรรจุที่คล้ายกัน เช่น การทำเอกสารเผยแพร่ความรู้ การจัดทำรูปภาพของยาที่คล้ายกันในโรงพยาบาล เป็นต้น
  • ยาที่ได้รับและให้กับผู้ป่วยต้องตรวจสอบ 3 ครั้ง คือ ตอนที่ได้รับยา, ตอนเตรียมยา, ก่อนให้ยาผู้ป่วย
  • ผู้เตรียมยา และผู้จ่ายยาต้องเป็นคนคนเดียวกัน

2) Right Patient (ให้ผู้ป่วย/ผู้รับบริการถูกคน)

  • ก่อนให้ยาต้องถามชื่อ – นามสกุล ของผู้ป่วยว่าชื่อ – นามสกุลอะไร อย่าใช้วิธีถามนำว่า “ชื่อ…นามสกุล…นี้ใช่หรือไม่” แล้วให้ผู้ป่วยตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ หรือส่ายหน้า พยักหน้า เพราะบางครั้งผู้ป่วยอยู่ในภาวะสับสน อาจไม่เข้าใจสิ่งที่พยาบาลถาม แต่พยักหน้ารับ หรือตอบว่าใช่กับพยาบาล
  • ตรวจสอบกับสายข้อมือที่ติดชื่อ-นามสกุลผู้ป่วยไว้ทุกครั้ง เพื่อความถูกต้อง ปลอดภัย
  • เปรียบเทียบชื่อ – นามสกุลของผู้ป่วย กับคำสั่งการใช้ยา (Medication sheet) เพื่อความถูกต้องและตรวจสอบประวัติการแพ้ยา

3) Right Dose (ให้ขนาดถูกต้อง)

  • ตรวจสอบปริมาณยาที่จะให้อีกครั้งกับการ์ดยา, Medication sheet, Doctor order รวมทั้งการให้ครั้งสุดท้าย เพื่อให้เกิดความถูกต้องและสอดคล้องกัน
  • ยาที่ให้กับเด็กและผู้ใหญ่มีขนาดที่แตกต่างกัน ถ้ามีข้อสงสัยในปริมาณยาที่ให้ ให้สอบถามกับแพทย์เจ้าของไข้ว่าปริมาณยาที่ให้มีความถูกต้องหรือไม่ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยได้รับยามากเกินไป รวมทั้งผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ถ้าเกิดข้อสงสัยในปริมาณยา ก็ควรถามเช่นกัน
  • การคำนวณระดับยา ควรมีการคำนวณซ้ำ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง หรือให้พยาบาลท่านอื่นมาคำนวณซ้ำถ้าไม่มั่นใจ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง
  • ปริมาณยาที่ให้ควรตรวจสอบกับคำสั่งการใช้ยา (medication sheet) ทุกครั้ง

4) Right Route (ให้ถูกทาง)

  • ตรวจสอบคำสั่งการใช้ยา ก่อนการให้ยาทุกครั้งว่าให้ยาทาง oral, IV, IM หรืออื่น ๆ เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการให้ยา เพราะบางครั้งชนิดยาถูกต้อง แต่ทางให้ยาผิด ยาที่ให้ไปก็อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยได้
  • ยาในแต่ละตัวที่ให้ควรกำหนดทางที่จะให้ยาให้มีความชัดเจน และอาจกำหนดเอกสารข้อห้ามการให้ยาบางชนิดที่ว่าไม่ควรให้ทางไหน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย

5) Right Time and Frequency (ให้ถูกเวลา)

ควรตรวจสอบเวลาในการให้ยาจากคำสั่งการใช้ยาที่กำหนดไว้ก่อนการให้ยา เพื่อดูเวลาที่ให้ยาครั้งสุดท้ายว่าเป็นเวลาใด ให้ไปแล้วหรือไม่ ให้เวลาเท่าใด เพื่อป้องกันการให้ยาผิดเวลา หรือผู้ป่วยได้รับยามากเกินไป

6) Right Documentation (บันทึกถูกต้อง)

  • ควรมีการบันทึกการให้ยาและลงชื่อการให้ยาในเวลาเดียวกับที่ให้ยากับผู้ป่วยในเอกสารที่กำหนดไว้ เพื่อให้ข้อมูลการให้ยาเป็นปัจจุบัน และสามารถสื่อสารกับพยาบาลหรือวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องในเรื่องการให้ยา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการให้ยาซ้ำซ้อน หรือไม่แน่ใจว่าให้ยาแล้วหรือไม่
  • มีบันทึกการลงลายมือชื่อผู้ให้ยา วันเวลาที่ให้ยา ชื่อยาที่ให้ ปริมาณยาที่ให้ทางที่ให้ยา และถ้ามีผู้ตรวจสอบซ้ำก็ให้ลงชื่อกำกับด้วย

7) Right to Refuse (สิทธิ์ที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับยาและสิทธิ์ในปฏิเสธยา)

  • ในกรณีที่ผู้ป่วยปฏิเสธการรับยา พยาบาลต้องให้คำอธิบายถึงผลที่เกิดขึ้นของการไม่รับยาของผู้ป่วยให้ผู้ป่วยได้รับทราบในทุกด้านอย่างละเอียด และใช้ความพยายามอย่างที่สุดที่จะให้ผู้ป่วยรับยา แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ยอมรับก็เป็นสิทธิของผู้ป่วย แต่การปฏิเสธนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงว่าไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย และบันทึกการปฏิเสธการรับยาของผู้ป่วยในเอกสาร

8) Right History and Assessment (ตรวจสอบประวัติการแพ้ยาและทำการประเมินถูกต้อง)

  • เพื่อป้องกันการแพ้ยาซ้ำ ควรตรวจสอบประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วยทุกครั้งก่อนการให้ยา
  • ควรมีการทดสอบ Skin test ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยา Antibiotic ทาง IV เป็นครั้งแรก เพื่อจะได้สังเกตอาการ และปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นก่อนการให้ยา
  • ถ้าคาดว่าเกิดความไม่ปลอดภัยในการให้ยา ควรตรวจสอบซ้ำกับคำสั่งการใช้ หรือปรึกษาแพทย์ เภสัชกร
  • ผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิบัติตามแนวทางต่างๆในการให้ยาอย่างเคร่งครัด

9) Right Drug – Drug Interaction and Evaluation (การตรวจสอบปฏิกิริยาระหว่างกันของยาและการประเมินถูกต้อง)

  • พยาบาลควรมีความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของปฏิกิริยาต่อกันของยาว่ายาชนิดใดเกิดปฏิกิริยาต่อกันเมื่อการให้ยาพร้อมกันก่อนการให้ยา ในกรณีที่มียามากกว่า 1 ชนิดแก่ผู้ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยา หรือถ้าจำเป็นจะได้มีมาตรการในการรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
  • หน่วยงานควรมีการจัดทำรายชื่อยาที่มีปฏิกิริยาต่อกันให้บุคลากรได้รับรู้ เพื่อให้เกิดความตระหนักในการสร้างความปลอดภัย
  • สังเกตอาการของผู้ป่วยก่อนการให้ยาและหลังให้ยาเพื่อเฝ้าระวังการแพ้ยา หรือการเกิดปฏิกิริยาต่อกัน
  • กำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการป้องกันการแพ้ยา รวมทั้งมาตรการการแก้ไขการแพ้ยาหรือยาเกิดปฏิกิริยาต่อกัน สื่อสาร ถ่ายทอดให้ผู้ปฏิบัติงานทราบ

10) Right to Education and Information (การให้ความรู้และข้อมูลถูกต้อง)

  • ผู้ป่วยและญาติมีสิทธิ์ที่จะได้รับรู้ในเรื่องของยาที่ต้องได้รับ พยาบาลต้องอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติได้รับทราบถึงชื่อยาที่จะให้ ทางที่จะให้ยา ผลการรักษา และผลข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้นให้ผู้ป่วยและญาติได้รับรู้ รวมถึงความเข้าใจในการสังเกตอาการแพ้ยาของผู้ป่วย เพื่อช่วยกันในการสร้างความปลอดภัยในการให้ยาร่วมกัน

ที่มา : คู่มือการสอนหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล, รายวิชาปฏิบัติการพยาบาลอนามัยชุมชนและการรักษาโรคเบื้องต้น (640-493), สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปีการศึกษา 2561

Related Articles

การบริหารจัดการยาที่มีความเสี่ยงสูง

เนื่องด้วยรายการยาที่มีอยู่จำนวนมาก แต่ละรายการอาจมีอันตรายที่มีความรุนแรงต่างกัน การที่จะระมัดระวังป้องกันหรือจัดการให้เกิดความปลอดภัยอาจจะทำได้ยาก จึงเกิดแนวคิดเรื่องยาที่ควรให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ

การประเมินแผลกดทับ

แผลกดทับ (Pressure Ulcers) หมายถึง การบาดเจ็บของผิวหนังและ/หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง โดยส่วนมากอยู่ที่บริเวณเหนือปุ่มกระดูก ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกด (Pressure) หรือแรงกดร่วมกับแรงเฉือน (Shear) ปัจจัยภายในที่สัมพันธ์กับการเกิดแผลกดทับ มีดังนี้

Responses