RSV เชื้อไวรัสร้ายอาการคล้ายไข้หวัด

RSV เชื้อไวรัสร้ายอาการคล้ายไข้หวัด

เชื้อไวรัส RSV เป็นโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาจมีอาการรุนแรงได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของลูกไว้ให้ดี เพราะถ้าลูกน้อยติดเชื้อ RSV อาจนำไปสู่โรคปอดอักเสบได้

1) RSV คืออะไร ?
RSV (Respiratory Syncytial Virus) คือ ไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม เป็นโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินหายใจ สามารถพบผู้ที่ติดเชื้อไวรัส RSV ได้ในทุกวัย แต่พบมากในเด็กและทารก ซึ่งเป็นวัยที่มักเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนได้

RSV มีสองสายพันธุ์ คือ RSV-A และ RSV-B เป็นไวรัสก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจของเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และมีการระบาดเกือบทุกปี

2) เชื้อไวรัส RSV ติดต่อได้อย่างไร?
ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก และจากการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู ของเล่น ฯลฯ

เชื้อไวรัส RSV สามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมง และสามารถอยู่ที่มือของเราได้นานประมาณ 30 นาที ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่มีเด็กเล็กป่วยในบ้าน ควรหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ก่อนสัมผัสเด็ก

3) อาการการติดเชื้อไวรัส RSV เป็นอย่างไร ?
อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน และเมื่อป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน

อาการแรกเริ่ม มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา ดังนี้

  • มีไข้
  • ไอ
  • จาม
  • คัดจมูก
  • น้ำมูกไหล
RSV เชื้อไวรัสร้ายอาการคล้ายไข้หวัด

โดยปกติ ผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่แข็งแรงดี อาการมักไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่ในเด็กเล็กและทารก เชื้อไวรัส RSV อาจลุกลามไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง (หลอดลม เนื้อปอด) จนพัฒนากลายเป็นหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ และปอดอักเสบตามมาได้

อาการรุนแรง มักเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง (โรคเบาหวาน,โรคปอด, โรคหัวใจ) โดยพบอาการได้ดังนี้

  • ไข้สูง
  • ไออย่างรุนแรง
  • หอบเหนื่อย เนื่องจากปอดอักเสบ
  • หายใจมีเสียงหวีดหวิว หรือ เสียงครืดคราดในลำคอ
  • หายใจแรงจนหน้าอกบุ๋ม
  • รับประทานอาหารได้น้อย
  • หงุดหงิดง่าย เซื่องซึม

4) มีวิธีรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการ หากเป็นแค่อาการหวัดจากเชื้อไวรัส RSV ให้รักษาตามอาการที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องนอนที่โรงพยาบาล เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนจากโรงพยาบาลได้

ตัวอย่างเช่น

  • การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ
  • กรณีเด็กที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก

แต่ถ้าพบว่าผู้ป่วยเด็กมีไข้สูง ไม่รับประทานอาหาร ไม่เล่น หายใจเร็วกว่าปกติ หายใจมีเสียงหวีด หงุดหงิดง่าย หรือเซื่องซึม ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

5) เราจะป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ได้อย่างไรดี?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไวรัส RSV แต่เราสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้ ดังนี้

  • ทุกคนในบ้านหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด เพราะการล้างมือจะช่วยลดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 70
  • การใช้แอลกอฮอล์เจลถูมือเมื่อเดินทางออกนอกบ้าน ช่วยป้องกันโรคได้บ้าง แต่การล้างมือบ่อย ๆ จะป้องกันเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ติดมากับมือได้ดีกว่า
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อและการไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด
  • ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
  • ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
  • ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมาก ๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา
  • สำหรับคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองเมื่อบุตรหลานมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ

ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติติดเชื้อไวรัส RSV สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ ดังนั้นควรหมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

ที่มา : กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

Related Articles

คำย่อภาษาอังกฤษ ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค

พยาบาลนอกจากดูแลสุขภาพของผู้ป่วยแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญคือ การอ่านข้อมูลที่บันทึกอยู่ในเวชระเบียน ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยที่มารับบริการตรวจและรักษาโรคในโรงพยาบาล

Q&A น้องขวัญใจใฝ่รู้…พี่เนิร์สไขข้อสงสัย ตอน หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่อง (CNEU) คืออะไร

สวัสดีแฟนเพจ Nurse Soulciety ทุกคนค่า
หลายคนที่กำลังศึกษาพยาบาลอยู่ หรือใกล้จบ อาจจะเคยได้ยินชื่อย่อ CCNE และ CNEU แต่เอ๊ะ! มันคืออะไรกันนะ

เบาหวานอย่าเสี่ยงกับไข้หวัดใหญ่ดีกว่า

จากข้อมูลสถิติของกรมควบคุมโรคและสมาคมการติดเชื้อแห่งประเทศไทยพบว่า ช่วงระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยเบาหวานมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น 5-15% และเข้านอนโรงพยาบาลสูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 6 เท่า จากการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่

Responses