คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัด

คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัด

คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัดหัตถการทั่วไป (บางหัตถการและการผ่าตัดอาจมีความต้องการในการดูแลก่อนและหลังผ่าตัดที่แตกต่างออกไปและจำเพาะมากยิ่งขึ้น)

การปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัด

1. งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด เพื่อป้องกันปัญหาการสำลักเศษอาหารเข้าหลอดลมและปอด ระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึก
2. ควรอาบน้ำ สระผม ล้างหน้าให้สะอาด งดการใช้ครีมและเครื่องสำอางทุกชนิด ตัดเล็บให้สั้น ล้างสีเคลือบเล็บมือและเท้าออก เพื่อช่วยให้แพทย์และพยาบาลสังเกตอาการผิดปกติ ที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดออกซิเจน ในระหว่างการผ่าตัดและหลังผ่าตัด
3. งดใส่ของมีค่าต่าง ๆ เครื่องประดับทุกชนิด เช่น แหวน กิ๊บ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู แว่นตา นาฬิกา คอนแทคเลนส์ และอย่าลืมถอดฟันปลอม (ชนิดถอดออกได้) เพื่อป้องกันการหลุดของฟันปลอมเข้าไปอุดหลอดลมขณะผ่าตัด
4. ถ่ายปัสสาวะ อุจจาระให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องผ่าตัด
5. งดโกนขนบริเวณที่จะผ่าตัดด้วยตัวเอง
6. แนะนำให้งดสูบบุหรี่ก่อนมาผ่าตัดอย่างน้อย 30 วัน

อย่าลืมให้ข้อมูลยาที่ท่านใช้อยู่ตอนนี้กับเจ้าหน้าที่ด้วยนะคะ

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับจากห้องผ่าตัด

1. หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการดูแลในห้องพักฟื้นประมาณ 2 ชั่วโมง โดยมีพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเมื่อฟื้นจากฤทธิ์ยาสลบหรือยาระงับความรู้สึก จึงย้ายกลับมาห้องพักได้
2. หลังผ่าตัด พยาบาลจะให้การดูแลในเรื่องความเจ็บปวด โดยจะถามระดับความเจ็บปวดจากผู้ป่วย เพื่อประเมินการให้ยาระงับปวดตามแผนการรักษาของแพทย์
3. หลังผ่าตัด ผู้ป่วยบางรายอาจมีเครื่องบริหารยาเพื่อลดความเจ็บปวด (PCA) มาด้วย โดยเครื่องนี้ผู้ป่วยสามารถกดให้ยาแก้ปวดได้ด้วยตัวเอง เมื่อมีอาการปวดอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลังผ่าตัดได้
4. บริเวณที่ทำการผ่าตัด อาจมีสายยางจากแผลหรือข้างแผลเพื่อระบายเลือดและของเหลวออกจากแผล ห้ามผู้ป่วยดึงสิ่งเหล่านี้ออกเอง และถ้าปวดแผลควรแจ้งพยาบาลเพื่อขอยาระงับปวด
5. หายใจเข้าออกลึก ๆ อย่างถูกวิธี จะทำให้ปอดขยายตัวได้เต็มที่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องการยาระงับปวดน้อยลงและสามารถทำได้ทันทีเมื่อรู้สึกตัว

5.1. หายใจเข้าออกลึก ๆ โดยทำจำนวน 5 ครั้งในทุก ๆ 1 ชั่วโมง

วิธีการ
• นอนศีรษะสูงหรือลุกนั่ง งอเข่าเล็กน้อย ยกเว้นในกรณี Block หลัง
• ใช้มือทั้ง 2 ข้าง วางหรือประสานกันบริเวณแผลหรือใช้หมอนวางบริเวณแผล ทำให้ลดความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้น
• หายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ ทางจมูก ค้างไว้ประมาณ 3 วินาที (นับ 1-2-3 ในใจ)
• ห่อริมฝีปากเหมือนจะผิวปาก แล้วผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ ยาว ๆ

5.2. ไอแบบมีประสิทธิภาพ เพื่อเอาเสมหะออกจากลำคอ

วิธีการ
• หายใจเข้าออกลึก ๆ ประมาณ 4 ครั้ง (ตามวิธีดังกล่าวข้างต้น)
• ครั้งที่ 4 หายใจเข้าลึก ๆ กลั้นไว้ประมาณ 3 วินาที (นับ 1-2-3 ในใจ)
• ใช้มือทั้ง 2 ข้างกดแผลก่อนไอ
• แล้วไอออกมาจากส่วนลึกของลำคอ 1-2 ครั้ง เพื่อขับเสมหะที่คั่งค้างออกมา

6. การเคลื่อนไหวร่างกายและการลุกนั่งหลังผ่าตัด ควรมีการเปลี่ยนท่านอนพลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมง และลุกนั่งพร้อมทั้งเริ่มบริหารร่างกายทันทีเมื่ออาการดีขึ้น
7. หากแพทย์อนุญาตให้รับประทานอาหารได้ควรรับประทานน้อย ๆ ก่อน แล้วสังเกตว่ามีอาการแน่น อึดอัดท้องหรือไม่ วันต่อมาจึงเริ่มรับประทานอาหารตามปกติ โดยเฉพาะเมื่อกลับไปพักฟื้นที่บ้านต้องบำรุงร่างกายให้มากขึ้น เพราะอาหารทำให้สุขภาพแข็งแรง โดยเฉพาะอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ นม ผัก ผลไม้ จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น
8. รับประทานยาให้ครบตามแผนการรักษาของแพทย์
9. รักษาสุขนิสัยในการขับถ่ายอุจจาระให้สม่ำเสมอ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
10. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะ 1-2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด

คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัด

คำแนะนำเรื่องการดูแลแผลหลังผ่าตัด

  1. ไม่ต้องเปิดทำแผลจนถึงวันที่แพทย์นัดเปิดแผล
  2. กรณีปลาสเตอร์ปิดแผลหลุด แนะนำให้ไปทำแผลก่อนวันนัดได้ที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน
  3. กรณีที่แผลปิดปลาสเตอร์แบบไม่กันน้ำ ให้ระมัดระวังดูแลไม่ให้แผลสกปรก และไม่ควรให้แผลถูกน้ำ
  4. กรณีที่ปิดแผลชนิดป้องกันน้ำ เวลาอาบน้ำไม่ควรใช้น้ำราดบริเวณแผลโดยตรง และไม่ควรถูหรือฟอกบริเวณแผล เพราะอาจจะทำให้ปลาสเตอร์กันน้ำหลุดได้ง่าย โดยหลังอาบน้ำให้ใช้ผ้าขนหนูซับบริเวณปลาสเตอร์ที่ปิดแผลไว้ให้แห้ง ไม่ถูแรง ๆ เพื่อป้องกันปลาสเตอร์หลุด
  5. ไม่ควรออกกำลังกายที่มีเหงื่อออกมาก เพราะจะทำให้คันบริเวณที่ติดปลาสเตอร์ หรืออาจทำให้ปลาสเตอร์หลุดได้
  6. รับประทานยาฆ่าเชื้อให้ครบ ตามแผนการรักษาของแพทย์
  7. แนะนำให้มาตรวจตามนัดของแพทย์ หรือหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีสิ่งคัดหลั่ง น้ำหรือหนองซึมออกมาจากแผล หรือมีไข้ ปวด บวม แดง ร้อน และกดเจ็บบริเวณแผลผ่าตัด ให้รีบกลับมาพบแพทย์ทันที
  8. อื่น ๆ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัด จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจร้ายแรงถึงชีวิต และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ที่มา : โรงพยาบาลรามคำแหง

Related Articles

ดูแลเด็กอย่างไรให้ปลอดภัยจาก COVID-19

ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พ่อแม่รู้สึกกังวลต่อสุขภาพของเด็ก พี่เนิร์สเลยจะมาบอกวิธีการดูแลเด็กในช่วงโควิด-19 ให้ทุกคนทราบกันค่ะ

เทคนิคทำงานกะดึกยังไงให้หน้าใสไร้สิว

พยาบาลกะดึกก็ผิวสวยใสไม่มีสิวได้ แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีอยู่เสมอ ต้องทำอย่างไรบ้าง? พี่เนิร์สจะมาบอกเทคนิคค่ะ

Responses