การเลือกใช้และลำดับการบรรจุเลือดลงหลอดเก็บเลือด

ชนิดและการเลือกใช้หลอดเก็บเลือด

หลอดเก็บเลือดเป็นหลอดแก้วที่ผ่านขบวนการปลอดเชื้อด้วยการอาบรังสี และถูกผนึกด้วยจุกพลาสติกเพื่อรักษาสภาพสุญญากาศ นอกจากนี้จุกยังมีสีต่าง ๆ ตามสารกันเลือดแข็งที่บรรจุอยู่ เพื่อความสะดวกต่อผู้ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ

ขั้นตอนการส่งหลอดเก็บเลือด

1. การติดป้ายชื่อผู้ป่วยบนหลอดเก็บเลือด

  • ปิดสติกเกอร์เป็นแนวตรง ไม่ม้วนเกลียวรอบหลอดเก็บเลือด
  • เมื่อปิดสติกเกอร์แล้ว ต้องยังมองเห็นแถบสีที่บอกชนิดของหลอดเก็บเลือด และเว้นช่องว่างให้เห็นขีดบอกระดับเลือดที่ต้องเจาะ และระดับเลือดที่ใส่ลงมาในหลอด
  • ถ้าสติกเกอร์ยาวเกินหลอดเก็บเลือด ให้ตัดส่วนที่เกินออกหรือพับสติกเกอร์ส่วนเกินเข้าหากัน โดยยังต้องสามารถอ่าน HN และชื่อ-นามสกุลของผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน

2. การเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำ มีข้อปฏิบัติ ดังนี้

2.1 ตรวจดูสติกเกอร์ที่แสดงชื่อ-นามสกุล และ HN ของผู้ป่วยที่ติดบนใบขอส่งตรวจ และหลอดเก็บเลือดต้องตรงกัน

2.2 ถามชื่อ-นามสกุลผู้ป่วยทุกครั้งเมื่อจะลงมือเจาะเลือด

2.3 ไม่ควรรัดแขนผู้ป่วยนานเกิน 1 นาที เนื่องจากอาจทำให้ค่าของการตรวจบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป และควรรัดเหนือตำแหน่งที่เจาะเลือดประมาณ 3-4 นิ้ว

2.4 ไม่ให้เปิดจุกหลอดเก็บเลือด แต่ให้ใช้เข็มแทงผ่านฝาจุกแล้วค่อย ๆ ให้ระบบสุญญากาศดูดเลือดเข้าไปเอง โดยไม่ต้องดันลูกสูบของกระบอกเพื่อฉีดเลือดลงไป เพราะจะทําให้เม็ดเลือดแดงแตก

2.5 กรณีที่มีการส่งเลือดหลายหลอด ลำดับในการใส่เลือดลงหลอดเก็บเลือดประเภทต่าง ๆ ให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • ลำดับที่ 1 Tube hemoculture / คว่ำหงายหลอดเบา ๆ 3-5 ครั้ง
  • ลำดับที่ 2 Tube sodium citrate (จุกสีฟ้า) / คว่ำหงายหลอดเบา ๆ 4 ครั้ง
  • ลำดับที่ 3 Tube clotted blood (จุกสีแดง) / คว่ำหงายหลอดเบา ๆ 6-8 ครั้ง
  • ลำดับที่ 4 Tube lithium heparin (จุกสีเขียว) / คว่ำหงายหลอดเบา ๆ 6-8 ครั้ง
  • ลำดับที่ 5 Tube EDTA (จุกสีม่วง) / คว่ำหงายหลอดเบา ๆ 6-8 ครั้ง
  • ลำดับที่ 6 Tube sodium fluoride (จุกสีเทา) / คว่ำหงายหลอดเบา ๆ 6-8 ครั้ง

2.6 หลังจากเจาะเลือดเสร็จแล้ว ให้นำเลือดใส่ในหลอดเก็บเลือดที่มีสารกันเลือดแข็งตัว (Anti-coagulant) โดยพลิกหลอดเก็บเลือดกลับไปกลับมาช้า ๆ ประมาณ 6-8 ครั้ง เพื่อให้เลือดและสารที่เคลือบอยู่ในหลอดผสมกันดี และไม่ควรเขย่าหลอดแรง ๆ เพราะจะทำให้เม็ดเลือดแดงเกิดการแตกตัว (Hemolysis) ได้

2.7 เขียนชื่อผู้เจาะเลือดที่มุมขวาบนของใบขอส่งตรวจ

2.8 ใส่หลอดเก็บเลือดในถุงพลาสติกใส และมัดปากถุงให้สนิท

3. สารที่ใส่ในหลอดเก็บเลือดและการตรวจทางเคมี

  • จุกสีฟ้า / ขนาด 3 ml. / สารที่ใส่ในหลอด 9NC Coagulation Sodium Citrate 3.2% / ใช้สำหรับการตรวจ PT, PTT, TT, Fibrinogen, D-Dimer, Lupus Anticoagulants
  • จุกสีแดง / ขนาด 6 ml. / สารที่ใส่ในหลอด Plain with Clot Activator No Additive / ใช้สำหรับการตรวจ Chemistry, Immunology Blood Bank (แยกหลอด)
  • จุกสีเขียว / ขนาด 4 ml. / สารที่ใส่ในหลอด Lithium Heparin / ใช้สำหรับการตรวจ Chemistry (ยกเว้น Acid phosphatase), Chromosome, Troponin-T
  • จุกสีม่วง / ขนาด 3 ml. / สารที่ใส่ในหลอด EDTA (K3) / ใช้สำหรับการตรวจ CBC, Hb, Hct, Platelet Count, Hb Typing, G6PD, ESR Malaria, Reticulocyte Count, HbA1 c
  • จุกสีเทา / ขนาด 2 ml. / สารที่ใส่ในหลอด Sodium Fluoride, Potassium Oxalate / ใช้สำหรับการตรวจ Glucose, Alcohol, Lactate (ห้ามใช้สายรัด)

เพิ่มเติม : หลอดเก็บเลือดสำหรับทารกแรกเกิด
ผู้ป่วยเด็กทารกแรกเกิด ต้องเลือกใช้หลอดเก็บเลือดที่มีขนาดเล็กลง เนื่องจากไม่สามารถเจาะเลือดได้ตามปริมาณที่เพียงพอต่ออัตราส่วนของสารกันเลือดแข็ง แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด

  • จุกสีแดง / ขนาด 1.0 ml. (1000 ul.) / สารที่ใส่ในหลอด Plain No Additive / ใช้สำหรับการตรวจ Chemistry
  • จุกสีม่วง / ขนาด 0.5 ml. (500 ul.) / สารที่ใส่ในหลอด EDTA K3 / ใช้สำหรับการตรวจ CBC, Hb, Hct, Platelet Count, Hb Typing, G6PD, Malaria, Reticulocyte Count, HbA1 c

แหล่งข้อมูล : N Health โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลศิริราช, ศูนย์ผลิตและพัฒนาสื่อคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Responses