การล้างจมูก

การล้างจมูก (Nasal Irrigation)

ในปัจจุบันพบว่าความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับจมูกนั้นมีมากมายหลายหลาก พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เช่น เยื่อบุจมูกอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ ริดสีดวงจมูก ฯลฯ นอกจากทาให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลงแล้ว ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง และเหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบเรื้อรัง ภาวะแทรกซ้อนทางตา และสมอง เป็นต้น เนื่องจากมีช่องทาง เปิดผ่านจากจมูกถึงอวัยวะอื่นๆ ได้

วันนี้พี่เนิร์ส จะนำเอาวิธีการล้างจมูกมาทบทวนความรู้ให้กับเพื่อนๆน้องๆกันนะคะ

ความหมายของการล้างจมูก

การล้างจมูก เป็นการทำความสะอาดโพรงจมูก โดยการใส่น้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก เพื่อชาระล้างน้ำมูกที่เหนียวข้น หนอง สิ่งสกปรกคั่งค้างในจมูก ซึ่งเกิดจากการอักเสบในโพรงจมูกและไซนัส หรือคราบสะเก็ดแข็งในจมูกหลังการผ่าตัดจมูกและไซนัส หรือการฉายแสงและทำให้โพรงจมูกกับบริเวณรูเปิดของไซนัสโล่ง บรรเทาอาการคัดจมูกลดการบวมภายในโพรงจมูก ช่วยให้ความชุ่มชื้นให้แก่เยื่อบุจมูก และป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากโพรงจมูกและไซนัสไปสู่ปอด ทำให้โพรงจมูกสะอาดและไม่มีกลิ่นเหม็น โดยสิ่งสกปรกจะไหลออกข้างนอกและไหลลงคอไป นอกจากนั้นการล้างจมูกก่อนพ่นยาในจมูก ยังทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้นและออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นอีกด้วย

ประโยชน์ของการล้างจมูก

การล้างจมูกนั้น เป็นผลดีต่อร่างกายสามารถทำได้ง่าย และมีประโยชน์ดังนี้

  1.  ช่วยชะล้างน้ำมูกหรือหนองบริเวณโพรงจมูก และหลังโพรงจมูกทำให้ปริมาณน้ำมูก หนองหรือเสมหะที่จะไหลลงคอน้อยลง ช่วยป้องกันการลุกลามของ เชื้อโรคจากจมูกและไซนัสไปสู่ปอด
  2. ลดอาการคัดจมูก แน่นจมูก ทำให้จมูกยุบบวมลงจนทำให้หายใจได้โล่งขึ้น
  3. ช่วยลดความเหนียวข้นของน้ำมูก และทำให้เชื้อโรคไม่เจริญเติบโต
  4. ให้ความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก ลดอาการระคายเคืองจมูก จมูกไม่แห้ง
  5. ช่วยทำให้ขนพัดโบก สิ่งสกปรก สิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น
  6. ทำให้ยาพ่นจมูกออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากยาสัมผัสกับเยื่อจมูกได้มากขึ้น
  7. ช่วยให้ไม่เป็นหวัด และโพรงไซนัสอักเสบเรื้อรัง
  8. ช่วยลดจานวนเชื้อโรค ของเสีย สารก่อภูมิแพ้ และสารที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้

ขอบเขตของการล้างจมูก

การล้างจมูกสามารถทำได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย ในทารกเริ่มจากเด็กอายุ 3-4 เดือน เด็กโตและวัยรุ่น รวมถึงผู้ใหญ่ด้วย

การล้างจมูกนั้นจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่ถูกต้อง สะอาด ปลอดภัย และครบถ้วนจึงจะทำการล้างจมูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • การเตรียมอุปกรณ์การล้างจมูกในเด็กเล็ก

การเตรียมอุปกรณ์ในการล้างจมูกในเด็กเล็กนั้น ต้องมีความสะอาด ปลอดภัย จึงจะทำการล้างจมูกได้ ดังนี้

  1. น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9 % Normal Saline สำหรับล้างจมูกโดยเฉพาะ ปัจจุบันจะมีขายเป็นขวดสำเร็จรูป ซึ่งหาซื้อได้จากโรงพยาบาลหรือตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งแนะนำให้ใช้ขวดละ 100 มิลลิลิตร (น้ำเกลือที่ใช้เหลือให้เททิ้งและห้ามนำกลับมาใช้ใหม่หรือเทกลับเข้าขวดน้ำเกลือเดิม) เมื่อเปิดขวดจะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 24 ชั่วโมง
  2. ถ้วยสะอาดสาหรับใส่น้ำเกลือ
  3. กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 1 มิลลิลิตร (ไม่ใส่เข็มฉีดยา) สำหรับเด็กเล็กมาก
  4. กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 2-5 มิลลิลิตร (ไม่ใส่เข็มฉีดยา)สำหรับเด็กอายุ 1-5 ปี
  5. ลูกสูบยางแดงสำหรับดูดน้ำมูกและเสมหะสำหรับเด็กที่ยังสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะเองไม่ได้
  6. ลูกสูบยางแดงเบอร์ 0-2 สำหรับเด็กขวบปีแรก และเบอร์ 2-4 สำหรับเด็กอายุมากกว่า 1 ปี
  7. ภาชนะใส่น้ำล้างจมูก
  8. กระดาษชำระ
  9. การเตรียมอุปกรณ์การล้างจมูกในเด็กโต

การเตรียมอุปกรณ์การล้างจมูกในเด็กโต ซึ่งจำเป็นต้องมีการเตรียมอุปกรณ์ (ภาพที่1.4) คล้าย ๆ กับในเด็กเล็ก และต้องยังคงความสะอาด ปลอดภัย ด้วยเช่นกัน

  1. น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9 % Normal Saline สำหรับล้างจมูกโดยเฉพาะ แนะนำให้ใช้ขวดละ 100 มิลลิลิตร (น้ำเกลือที่ใช้เหลือให้เททิ้ง ห้ามนำกลับมาใช้ใหม่หรือเทกลับเข้าขวดน้ำเกลือเดิม) เมื่อเปิดขวดจะมีอายุการใช้งาน ไม่เกิน 24 ชั่วโมง
  2. ถ้วยสะอาดสาหรับใส่น้าเกลือ
  3. กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 10-20 มิลลิลิตร (ไม่ใส่เข็มฉีดยา)
  4. ภาชนะใส่น้ำล้างจมูก
  5. กระดาษชำระ
  6. การเตรียมอุปกรณ์การล้างจมูกในผู้ใหญ่

การเตรียมอุปกรณ์การล้างจมูกในผู้ใหญ่ก็เช่นกัน จะต้องเตรียมอุปกรณ์ คล้าย ๆ กับในเด็กเล็ก และในเด็กโตต้องยังคง ความสะอาด ปลอดภัย ซึ่งยังมีความแตกต่างออกไปในเรื่องอุปกรณ์อีกด้วย

  1. น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9 % Normal Saline สำหรับล้างจมูกโดยเฉพาะ แนะนำให้ใช้ขวดละ 100 มิลลิลิตร (น้ำเกลือที่ใช้เหลือให้เททิ้ง ห้ามนำกลับมาใช้ใหม่หรือเทกลับเข้าขวดน้ำเกลือเดิม) เมื่อเปิดขวดจะมีอายุการใช้งานภายใน 24 ชั่วโมง
  2. ถ้วยสะอาดสาหรับใส่น้ำเกลือ
  3. กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 20-50มิลิลิตร (ไม่ใส่เข็มฉีดยา) หรือจะเป็นอุปกรณ์สำเร็จรูป เช่น Hashi (น้ำเกลือสำเร็จรูป) เป็นต้น
  4. ภาชนะใส่น้ำล้างจมูก
  5. กระดาษชำระ

ขั้นตอนการล้างจมูกในเด็กเล็ก

ขั้นตอนการล้างจมูกในเด็กเล็ก จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สำหรับเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ามูกเองไม่ได้ และเด็กเล็กที่ให้ความร่วมมือและสั่งน้ำมูกได้ คือ

  • สำหรับเด็กเล็กที่ยังสั่งนามูกเองไม่ได้ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. ล้างมือผู้ที่จะทำการล้างจมูกให้สะอาด

2. เทน้ำเกลือใส่ขวดยาหยอดตา หรือกระบอกฉีดยาดูดน้าเกลือจนเต็ม

3. ให้ใช้ผ้าห่อตัวเด็กในกรณีที่เด็กไม่ให้ความร่วมมือและดิ้นมาก การห่อตัวเด็กจะช่วยให้ผู้ล้างจมูกสามารถล้างจมูกได้สะดวก นิ่มนวล และไม่เกิดการบาดเจ็บ

4. ให้เด็กนอนในท่าศีรษะสูงพอควร เพื่อป้องกันการสำลัก

5. จับหน้าให้นิ่ง ๆ ค่อยๆหยดน้ำเกลือครั้งละ 2-3 หยด หรือ ค่อยๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกข้างที่จะล้าง โดยให้แนบจุกล้างจมูกปลายกระบอกฉีดยาชิดด้านบนของจมูก ค่อยๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 0.5 มิลลิลิตร

6. ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูก ในจมูกออก โดยบีบลูกยางแดงจนสุดเพื่อไล่ลมออกแล้วค่อยๆ สอดเข้าไปในจมูกลึกประมาณ 1-1.5 ซ.ม. ค่อยๆปล่อยมือที่บีบออก เพื่อดูดน้ำมูกเข้ามาในลูกยางแดงบีบน้ำมูกในลูกสูบยางแดงทิ้งในกระดาษชำระ

7. ทำซ้ำหลายๆครั้ง ในรูจมูกแต่ละข้าง จนไม่มีน้ำมูก

8. ในกรณีรู้สึกว่ามีเสมหะในคอ ให้สอดลูกสูบยางแดงเข้าทางปากเพื่อดูดเสมหะในคอออก ถ้าต้องการให้เด็กไอเอาเสมหะออกให้สอดลูกสูบยางแดงลึกถึง ประมาณโคนลิ้น เพื่อกระตุ้นให้ไอ และทำการดูดเสมหะ เหมือนที่กล่าวมาข้างต้น (ระหว่างดูดเสมหะให้จับหน้าเด็กหันไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อป้องกันการสำลัก)

9. ทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงถังขยะแล้วล้างมือให้สะอาด

  • สำหรับเด็กที่ให้ความร่วมมือและสั่งน้ำมูกได้ควรปฏิบัติดังต่อไปนี

1. ล้างมือผู้ที่จะทำการล้างจมูกให้สะอาด

2. ให้เด็กนั่งหรือยืน แหงนหน้าเล็กน้อย ค่อยสอดปลายกระบอกฉีดยาแนบจุกล้างจมูกโดยวางให้ชิดจมูกด้านบน เหมือนที่กล่าวมาข้างต้น

3. ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 0.5-1 มิลลิลิตร หรือเท่า ที่เด็กทนได้ พร้อมกับบอกให้เด็กกลืนน้ำเกลือที่ไหล ลงคอเป็นระยะ ๆระหว่างฉีดน้ำเกลือ หรือให้บ้วนทิ้ง

4. ให้สั่งน้ำมูกลงในกระดาษทิชชู พร้อมกันทั้งสองข้าง (ไม่ต้องอุดรูจมูกอีกข้าง)

5. ทำซ้ำหลายๆครั้ง ๆ ในรูจมูกแต่ละข้าง จนไม่มีน้ำมูก

ขั้นตอนการล้างจมูกในเด็กโต

ขั้นตอนการล้างจมูกในเด็กโตนั้นจะง่ายกว่าแต่จะต้องมีความเข้าใจและทำตามขั้นตอน เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด เช่น เกิดการสำลักขณะล้างจมูก เป็นต้น จึงพึงระมัดระวังและปฏิบัติ ดังนี้

1. ล้างมือให้สะอาด

2. เทน้ำเกลือในภาชนะที่เตรียมไว้ ใช้กระบอกฉีดยาดูดน้ำเกลือจนเต็ม

3. ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในจมูก

4. ก้มหน้าลงเล็กน้อย อยู่ในท่าศีรษะตรง หรือกลั้นหายใจ-ก้มหน้า-อ้าปาก

5. สอดปลายกระบอกฉีดยาแนบจุกล้างจมูกเข้าไปในรูจมูกข้างที่จะล้างโดยวางปลายกระบอกฉีดยาชิดจมูกด้านบนกลั้นหายใจหรือหายใจทางปาก (เพื่อป้องกันการสำลัก) หรือให้เด็กพูดคำว่า “อา” ค้างไว้เสมอ เพื่อไม่ให้สำลักน้ำได้

6. ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในจมูกครั้งละ 2-5 มิลลิลิตร หรือปริมาณมากที่สุดเท่าที่เด็กจะทนได้ หลังจากนั้นให้สั่งน้ำมูกออกทันทีโดยสั่งน้ำมูกออกพร้อมๆ กันทั้งสองข้าง (ไม่ต้องอุดรูจมูกอีกข้าง) ไม่ควรกลั้นหายใจเพื่อกักน้ำเกลือให้ค้างในจมูกนาน บ้วนน้ำเกลือและน้ำมูกส่วนที่ไหลลงคอและบ้วนเสมหะในคอออกทิ้ง

7. ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูกออกมา

8. ทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงถังขยะ แล้วล้างมือให้สะอาด

ขั้นตอนการล้างจมูกในผู้ใหญ่

สำหรับการล้างจมูกในผู้ใหญ่ไม่ค่อยพบปัญหาเพียงทำความเข้าใจและปฏิบัติตามขั้นตอนเพื่อการล้างจมูกที่ถูกต้อง และเมื่อเข้าใจแล้วจะสามารถทำตามได้จนชำนาญ ดังนี้

1. ล้างมือให้สะอาด

2. เทน้ำเกลือในภาชนะที่เตรียมไว้ ใช้กระบอกฉีดยาดูดน้ำเกลือจนเต็ม

3. ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในจมูก

4. ก้มหน้าลงเล็กน้อยหรืออยู่ในท่าศีรษะตรง หรือ กลั้นหายใจ-ก้มหน้า-อ้าปาก

5. สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกแนบจุกล้างจมูกข้างที่จะล้างโดยวางปลายกระบอกฉีดยาชิดจมูกด้านบน

6. หายใจทางปากหรือกลั้นหายใจ

7. ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในจมูกจนน้ำเกลือและน้ามูกไหลออกทางปาก หรือไหลย้อนออกทางจมูกอีกข้าง

8. สั่งน้ำมูกลงในกระดาษชาระพร้อมๆกันทั้งสองข้าง (ไม่ต้องอุดรูจมูกอีกข้าง)บ้วนน้ำเกลือและน้ำมูกส่วนที่ไหลลงคอและ บ้วนเสมหะในคอออกทิ้ง

9. ทำซ้ำ หลายๆ ครั้งแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูกออกมา

10. ทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงถังขยะ แล้วล้างมือให้สะอาด

การทำความสะอาดอุปกรณ์การล้างจมูก

การทำความสะอาดให้ล้างอุปกรณ์ล้างจมูกให้สะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเติบโตและเพิ่มปริมาณโดยทำความสะอาด ดังนี้

  1.  กระบอกฉีดยาและภาชนะที่ใส่น้ำเกลือให้ล้างด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน หลังจากนั้นให้ล้างตามด้วยน้ำจนสะอาด ผึ่งให้แห้ง
  2. ล้างลูกสูบยางแดงด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน ทั้งภายนอกและภายใน ล้างตามด้วยน้ำประปาจนสะอาดโดยคว่ำปลายลูกสูบยางแดงลง ควรนำไปต้มในน้ำเดือด วันละ 1 ครั้ง โดยดูดน้ำเดือดเข้ามาในลูกสูบยางแดงต้มประมาณ 5 นาที เสร็จแล้วบีบน้ำที่ค้างในลูกสูบยางแดงออกให้หมดวางคว่ำในภาชนะที่สะอาดโดยคว่ำปลายลูกสูบยางแดงลง

ข้อพึงระวังในการล้างจมูก

การล้างจมูกนั้นทำได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ต้องฝึกทำจนเกิดความชำนาญ และมี ข้อพึงระวังดังต่อไปนี้

  1. ควรล้างจมูก อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วงตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน หรือเมื่อรู้สึกว่ามีน้ำมูกมากแน่นจมูก หรือก่อนใช้ยาพ่นจมูก
  2. ควรล้างจมูกก่อนเวลารับประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป ทำในช่วงท้องว่างเพื่อป้องกันการอาเจียน และป้องกันการสำลักเอาเชื้อโรคหรือเศษอาหารเข้าไปในโพรงจมูก
  3. ข้อควรระวังน้ำเกลือและอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกต้องสะอาด โดยเฉพาะน้ำเกลือ ไม่ควรใช้ขวดใหญ่เพราะการเปิดทิ้งไว้และใช้ต่อเนื่องนานกว่าจะหมด จะทำให้เชื้อโรคสะสมอยู่ได้ โดยทั่วไปใช้ขวดละ 100 มิลลิลิตร เพื่อให้หมดเร็วจะได้ ไม่เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  4. นอกจากนี้ควรล้างจมูก เมื่อมีน้ามูกเหนียวข้นจำนวนมาก (ถ้าน้ามูกใสและ มีจำนวนน้อยอาจใช้การเช็ดจมูกด้วยน้ำเกลือก็พอ) หลังใส่น้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก ให้สั่งน้ำมูกออกทันที ไม่ควรกลั้นหายใจเพื่อกักน้ำเกลือให้ค้างในจมูกนาน เพราะน้ำเกลืออาจจะย้อนไปในโพรงอากาศ และการสั่งน้ำมูกให้สั่งเบา ๆ และไม่ต้องอุดรูจมูกอีกข้าง เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุได้
  5. ห้ามใช้น้ำเปล่าล้างจมูก เนื่องไม่สมดุลกับน้ำในเซลล์ร่างกาย จะทำให้สำลักและโพรงจมูกรู้สึกแสบ
  6. หากต้องพ่นยาหลังล้างจมูก ควรรอให้โพรงจมูกแห้งก่อน อย่างน้อย 3-5 นาที จึงพ่นยา
  7. ผู้ที่มีรูจมูกด้านใดด้านหนึ่งอุดตันอยู่ตลอดเวลา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการล้างจมูก
  8. ไม่ควรใช้น้ำเกลือที่เย็นเกินไปในการล้างจมูก เพราะอาจทำให้เกิดอาการ คัดจมูกภายหลังการล้างจมูกได้ ดังนั้นถ้าเก็บน้ำเกลือในห้องที่เย็นหรืออากาศหนาว ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูกเสมอ โดยการนำแก้วที่ใส่น้ำเกลือ แช่ลงในภาชนะที่มีน้ำต้มเดือดหรือนำไปอุ่นในไมโครเวฟ 10 – 15 วินาที ก่อนจะนำน้ำเกลือที่อุ่นแล้วมาล้างจมูกระวังต้องไม่ให้น้ำเกลือร้อนจนเกินไปเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายกับเนื้อเยื่อบุโพรงจมูกได้

เอกสารอ้างอิง :

1. เวคิน นพนิตย์ : ปฏิบัติการเขียนคู่มือ. คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก. 29 หน้า, 2558.

2. ศรีสุนทรา เจิมวรพิพัฒน์ : การพยาบาล หู คอ จมูก.โครงการสวัสดิการวิชาการ สถาบัน บรมราชชน,นนทบุรี. หน้า64-67, 2552.

Related Articles