โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ทุกวันนี้มีโรคต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่รู้หรือไม่? ยังมีภัยเงียบที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวคุณนั่นก็คือ โรค NCDs วันนี้พี่เนิร์สจะพาทุกคนมารู้จักกับโรคร้ายนี้กันค่ะ

NCDs ย่อมาจาก Non-Communicable Diseases หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หมายถึง โรคที่ไม่ติดต่อ หรือไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค แต่เกิดจากการสะสมอาการอย่างต่อเนื่อง จากนิสัยหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม

สาเหตุของโรค NCDs เกิดจากอะไร? และมีวิธีการป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร?

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

จากข้อมูลสถิติของการประชุมมหกรรมสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อ (NCD Forum 2018) พบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ปีละกว่า 320,000 ราย

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) หมายถึง โรคที่ไม่ติดต่อ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส คลุกคลี หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่าง ๆ เพราะกลุ่มโรคนี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม

7 โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่มีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่

1) โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
สัญญาณเตือน : อึดอัด หายใจไม่สะดวก แน่นเหมือนมีอะไรมาบีบรัดหรือกดทับที่หน้าอก คลื่นไส้ ใจสั่น เหงื่อแตก

2) โรคหลอดเลือดสมอง
สัญญาณเตือน : แขนขาอ่อนแรง ชาที่ปลายมือปลายเท้า ปากเบี้ยว พูดลำบาก

3) โรคเบาหวาน
สัญญาณเตือน : ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เป็นแผลแล้วหายยาก

4) โรคถุงลมโป่งพอง
สัญญาณเตือน : ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด หลอดลมอักเสบบ่อย

5) โรคอ้วนลงพุง
สัญญาณเตือน : ผู้ชายมีรอบเอวเกิน 90 ซม.และผู้หญิงรอบเอวเกิน 80 ซม. เหนื่อยง่าย ข้อเข่ารับน้ำหนักไม่ไหว

6) โรคความดันโลหิตสูง
สัญญาณเตือน : หลังตื่นนอนจะมึนงง ตาพร่า ปวดศีรษะเฉียบพลันบ่อย เหนื่อยง่าย ใจสั่น

7) โรคมะเร็ง
สัญญาณเตือน : แผลเรื้อรังไม่หาย มีตุ่มก้อนในร่างกายที่โตเร็วผิดปกติ

5 พฤติกรรมเสี่ยง ที่อาจก่อให้เกิดโรค NCDs

ความเครียดสะสม
เมื่อเราเกิดความเครียดและนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล(Cortisol) ส่งผลให้หัวใจเต้นถี่ขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น

ขาดออกกำลังกาย
การขาดออกกำลังกาย จะทำให้การเผาผลาญพลังงานลดลง การไหลเวียนโลหิตน้อยลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันอ่อนเเอ

การทานอาหารที่ไม่เหมาะสม
การรับประทานอาหารหวานจัด เค็มจัด และอาหารที่มีไขมันคอเลสเตอรอลสูง ทำให้เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด และโรคอ้วน

ดื่มแอลกอฮอล์
ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป นอกจากจะมีผลเสียต่อตับ ทำให้เป็นโรคมะเร็งตับแล้ว ยังส่งผลต่อหัวใจ เพราะอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะอีกด้วย

สูบบุหรี่จัด
สารอันตรายในบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นนิโคติน ทาร์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ จะเข้าไปทำลายปอด ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็งปอด

กลุ่มโรค NCDs ป้องกันได้ โดยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต 3 อย่าง

  • อาหาร : รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม
  • อารมณ์ : หลีกเลี่ยงความเครียด ปรับทัศนคติวิธีคิด มองโลกในแง่บวกให้มากขึ้น
  • ออกกำลังกาย : ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3 วัน อย่างน้อย 30 นาที

สุขภาพเป็นสิ่งที่ซื้อไม่ได้ด้วยเงิน ถ้าอยากมีสุขภาพที่แข็งแรง ต้องใส่ใจดูแลตัวเองให้มากขึ้น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียแต่วันนี้ ก็จะห่างไกลจากโรค NCDs

อย่าลืมงดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอนะคะ

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, ไทยโพสต์

Related Articles

คำย่อภาษาอังกฤษ ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค

พยาบาลนอกจากดูแลสุขภาพของผู้ป่วยแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญคือ การอ่านข้อมูลที่บันทึกอยู่ในเวชระเบียน ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยที่มารับบริการตรวจและรักษาโรคในโรงพยาบาล

คำย่อภาษาอังกฤษ แผนกต่าง ๆ ของโรงพยาบาล

โรงพยาบาลเป็นสถานที่ให้บริการด้านสุขภาพ โดยจะมีแผนกต่าง ๆ เพื่อบริการตรวจวินิจฉัยโรคและดูแลรักษาผู้ป่วยตามอาการ ซึ่งแต่ละแผนกก็จะมีชื่อย่อที่แตกต่างกันไป

การประเมินแผลกดทับ

แผลกดทับ (Pressure Ulcers) หมายถึง การบาดเจ็บของผิวหนังและ/หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง โดยส่วนมากอยู่ที่บริเวณเหนือปุ่มกระดูก ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกด (Pressure) หรือแรงกดร่วมกับแรงเฉือน (Shear) ปัจจัยภายในที่สัมพันธ์กับการเกิดแผลกดทับ มีดังนี้

Responses