29 กันยายน วันหัวใจโลก

29 กันยายน วันหัวใจโลก

29 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันหัวใจโลก (World Heart Day) จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรโลก

วันนี้พี่เนิร์สจึงอยากชวนทุกคนมาสำรวจหัวใจตัวเองกันว่า หัวใจของคุณเป็นแบบไหน? และมาทำความรู้จักกับโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจกัน มีทั้งหมด 9 โรค มีอะไรบ้างนั้น มาดูกัน!!

29 กันยายน วันหัวใจโลก

ใจใหญ่
หัวใจโต (Cardiomegaly) เป็นภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติ เกิดจากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ส่วนมากเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดี และตามมาด้วยภาวะรุนแรงอย่างหัวใจล้มเหลว ทั้งนี้ผู้ป่วยหัวใจโตส่วนใหญ่มักได้รับการรักษาในระยะยาวโดยการใช้ยา เพื่อควบคุมอาการแทรกซ้อน

ใจเย็น
หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) คือ ภาวะที่อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาทีซึ่งน้อยกว่าการเต้นของหัวใจในอัตราปกติ โดยทั่วไปแล้วผู้ใหญ่จะมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที ผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที ถือว่าประสบภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ภาวะนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ โดยเฉพาะในกรณีที่หัวใจเต้นช้าจนไม่สามารถสูบฉีดเลือด และนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ

ใจร้อน
หัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia) คือ อาการที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โดยเกิดขึ้นได้แม้ไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ อาจเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อความวิตกกังวล อาการไข้ เสียเลือดกะทันหัน หรือออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังกายมาก นอกจากนั้นอาจเกิดจากโรคหรือความผิดปกติในร่างกาย เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) หรือปอดบวม รวมไปถึงผลข้างเคียงจากอาหาร เครื่องดื่ม และยารักษาโรค เช่น ชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในผู้ใหญ่อัตราการเต้นของหัวใจ เมื่อเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติมากกว่า 100 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจปกติจะอยู่ที่ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที

ใจสั่น
หัวใจเต้นพลิ้ว (Atrial fibrillation) คือโรคหัวใจชนิดหนึ่งที่หัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว ไม่ผลักดันเลือดลงมาห้องล่างตามปกติ และมักจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจห้องล่างเร็วผิดปกติ เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ ในคนปกติอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที และเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ หัวใจห้องบนและล่างทำงานสัมพันธ์กัน อัตราการเต้นของหัวใจห้องล่างในภาวะนี้อาจต่ำกว่าปกติ อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือเร็วผิดปกติ ในภาวะนี้หัวใจห้องบนและล่างทำงานไม่สัมพันธ์กัน

เจ็บใจ
กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction) คือ ภาวะที่เกิดลิ่มเลือดหรือไขมันไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและเสียชีวิตในที่สุด

ใจหาย
หัวใจหยุดเต้น (Asystole) เป็นภาวะที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเลย หมายความว่า หัวใจไม่มีการเต้นแล้ว หรือหัวใจหยุดทำงานโดยสิ้นเชิง

ใจสลาย
ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure) หรือเรียกว่าภาวะหัวใจวาย คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เพียงพอต่อความต้องการในขณะพัก หรือเมื่อต้องการออกกำลัง เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระยะสุดท้ายของโรคหัวใจทุกชนิด และยังเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ อีกหลายโรค

ใจรั่ว
ลิ้นหัวใจรั่ว (Heart Valve Regurgitation) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่ทำให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท เป็นสาเหตุให้เลือดไหลย้อนกลับ หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้เพียงพอ โรคนี้อาจรักษาให้หายได้โดยใช้ยาและการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซม รวมทั้งการใส่อุปกรณ์บางชนิดเพื่อช่วยให้หัวใจกลับมาทำงานได้ตามปกติ

ใจพองโต
หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ( Aortic Aneurysm) หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า (Aorta) เป็นหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ออกมาจากขั้วหัวใจทอดยาวจากช่องอกสู่ช่องท้องและให้แขนงเป็นหลอดเลือดที่นำเลือดแดงไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายหลายแห่ง โรคหรือภาวะบางอย่างอาจทำให้ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้ามีความอ่อนแอ เกิดการโป่งพองขยายขนาดจนใหญ่กว่าปกติขึ้น (Aneurysm) ซึ่งเมื่อมีการโป่งขยายจนถึงระดับหนึ่งก็จะแตก ทำให้เสียเลือดจำนวนมากกะทันหัน จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ภาวะดังกล่าวสามารถพบได้ในทุกระดับของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่อยู่ในช่องอกหรือช่องท้อง แต่สามารถพบบ่อยที่สุดในหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าในช่องท้องส่วนที่อยู่ใต้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต (Intrarenal Abdominal Aortic Aneurysm)

เพราะหัวใจมีเพียงดวงเดียว หากไม่อยากเสี่ยงเป็นโรคหัวใจดังกล่าว เราควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ และป้องกันหัวใจให้ห่างไกลโรค ทุกคนสามารถทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงทานอาหารไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง เช่น อาหารทอด ฟาสต์ฟู้ดส์ โดนัท เบเกอรี่ เราควรทานอาหารที่มีไฟเบอร์ ผักใบเขียว ปลาทะเล ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เป็นต้น
  • พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากภาวะอ้วนจะทำให้ร่างกายและหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตสูง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยลดไขมันในร่างกาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและปอดดีขึ้น
  • ลดความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับสนิทอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป ควรดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น วิสกี้ ไม่เกิน ¼ แก้ว/วัน เบียร์ไม่เกิน 1 ขวด/วัน ไวน์ไม่ควรเกิน 1 กระป๋อง (250 ซีซี/วัน)
  • หยุดสูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่ ทำให้เส้นเลือดแข็ง ผนังเส้นเลือดหนา หัวใจเต้นเร็ว ถ้าเราเลิกสูบบุหรี่ได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือด

ที่มา : โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลวิภาวดี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

Related Articles

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

NCDs ย่อมาจาก Non-Communicable Diseases หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หมายถึง โรคที่ไม่ติดต่อ หรือไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค แต่เกิดจากการสะสมอาการอย่างต่อเนื่อง จากนิสัยหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม

Q&A ใบประกอบวิชาชีพพยาบาลสำคัญอย่างไร

วันนี้พี่เนิร์สจะมาบอกความสำคัญของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพพยาบาลและการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพพยาบาลให้ทุกคนได้ทราบกัน น้อง ๆ สามารถติดตามอ่านบทสนทนา Q&A ของน้องอารีใฝ่รู้…พี่เนิร์สไขข้อสงสัย ได้เลยค่ะ

Responses