CPR การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (ผู้ใหญ่/เด็ก/ทารก)

CPR การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน

การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน CPR คืออะไร?

CPR ย่อมาจากคำว่า Cardiopulmonary resuscitation หมายถึง ปฏิบัติการช่วยชีวิตยามฉุกเฉินเพื่อให้ปอดและหัวใจฟื้นคืนชีพขึ้นมา ก่อนถึงมือแพทย์เพื่อให้การรักษาเฉพาะต่อไป

การทำ CPR เป็นวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อช่วยคืนชีวิตให้กับผู้ป่วย โดยผสมผสานระหว่าง

  • การผายปอด เพื่อช่วยเพิ่มอากาศเข้าไปในปอด
  • การกดหน้าอกบนตำแหน่งหัวใจ เพื่อช่วยให้หัวใจปั๊มเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนส่งต่อออกซิเจนไปยังอวัยวะต่าง ๆ

เมื่อไหร่ถึงจะทำ CPR?
การทำ CPR มักจะใช้สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินที่หมดสติ และหัวใจหยุดเต้น เช่น คนจมน้ำ คนถูกไฟฟ้าดูด ผู้ป่วยหัวใจวาย โดยควรรีบทำ CPR ทันทีภายในเวลา 4 นาทีแรกหลังจากหยุดหายใจ เพราะถ้าเซลล์สมองขาดออกซิเจน ก็จะทำให้เซลล์สมองบางส่วนตายไป

แนวทางปฏิบัติการปฐมพยาบาลช่วยฟื้นคืนชีพ
ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนที่สำคัญ ตามลำดับ C-A-B

  • Chest compression – กดหน้าอก
  • Airway – เปิดทางเดินหายใจ
  • Breathing – ผายปอด
5 ขั้นตอน ก่อนการทำ CPR

5 ขั้นตอน ก่อนการทำ CPR

  • ขั้นตอนที่ 1 : สังเกตดูความปลอดภัย
    ตรวจสอบความปลอดภัยก่อนเข้าช่วยเหลือ ถ้าอยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัย เช่น ไฟฟ้าช็อต ไฟไหม้ ตึกถล่ม ห้ามเข้าไปช่วยเหลือโดยเด็ดขาด รอดูสถานการณ์ให้ปลอดภัย แล้วเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมายังสถานที่ปลอดภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป
  • ขั้นตอนที่ 2 : ปลุกเรียก/ตบไหล่ เพื่อดูการตอบสนองตรวจสอบดูว่าผู้ป่วยหมดสติหรือไม่ โดยจัดท่าผู้ป่วยให้นอนหงายราบบนพื้นแข็ง แล้วปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงดัง และตบที่ไหล่ทั้งสองข้าง หากผู้ป่วยตื่น รู้สึกตัว หรือหายใจเองได้ ให้จัดท่านอนตะแคง
  • ขั้นตอนที่ 3 : ฟังเสียงหายใจและดูจังหวะการหายใจที่หน้าอก
    ตรวจดูว่าหายใจหรือไม่ โดยเอียงหูลงไปแนบใกล้ปากและจมูกของผู้ป่วย เพื่อฟังเสียงหายใจ ใช้แก้มเป็นตัวรับสัมผัสลมหายใจที่อาจจะออกมาจากจมูกหรือปากของผู้ป่วย และตาจ้องดูการเคลื่อนไหวที่หน้าอกของผู้ป่วยว่ากระเพื่อมขึ้นลงเป็นจังหวะหรือไม่
  • ขั้นตอนที่ 4 : ร้องขอความช่วยเหลือและโทรแจ้ง 1669
    โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 แจ้งว่ามีคนหมดสติ ไม่หายใจ ระบุสถานที่เกิดเหตุ ขอรถพยาบาลและเครื่อง AED พร้อมกับระบุชื่อ+เบอร์โทรคนที่ติดต่อได้
  • ขั้นตอนที่ 5 : เริ่มทำ CPR
    หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ต้องรีบกดหน้าอก

ขั้นตอนการปั๊มหัวใจ

1. วิธีการทำ CPR ในผู้ใหญ่ (อายุเกิน 8 ปี)

  • ขั้นตอนที่ 1 : กดหน้าอก 30 ครั้ง
    จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางนิ้วชี้และนิ้วกลางตรงตำแหน่งที่กระดูกซี่โครงต่อกับกระดูกอกส่วนล่างสุด วางสันมืออีกข้างบนตำแหน่งถัดจากนิ้วชี้และนิ้วกลางนั้น ซึ่งตำแหน่งของสันมือที่วางอยู่บนกระดูกหน้าอกนี้จะเป็นตำแหน่งที่ถูกต้องในการปั๊มหัวใจต่อไป
  • หากไม่แน่ใจว่าตำแหน่งกระดูกซี่โครงอยู่ตรงไหน ง่ายที่สุดก็คือ ให้วางส้นมือ (ข้างที่ไม่ถนัด) ตรงกลางหน้าอก ระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง

วางมืออีกข้าง (ควรเป็นมือข้างที่ถนัด) ทับลงบนหลังมือที่วางในตำแหน่งที่ถูกต้อง แล้วเหยียดนิ้วมือตรง จากนั้นเกี่ยวนิ้วมือทั้ง 2 ข้างเข้าด้วยกัน เหยียดแขนตรง โน้มตัวตั้งฉากกับหน้าอกผู้บาดเจ็บ ทิ้งน้ำหนักลงบนแขนขณะกดหน้าอกผู้บาดเจ็บ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 2-2.4 นิ้ว ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้ง/นาที

  • ขั้นตอนที่ 2 : ผายปอด 2 ครั้ง
    วางมือข้างหนึ่งไว้ที่คางและอีกข้างไว้บนศีรษะ เงยศีรษะขึ้นพร้อมยกคางขึ้นเพื่อให้ศีรษะแหงนไปด้านหลัง จากนั้นบีบจมูก แล้วเป่าลมเข้าปากจนหน้าอกขยับขึ้นนาน 1 วินาที ผายปอดติดต่อกัน 2 ครั้ง แล้วกลับไปกดหน้าอก ทำซ้ำเดิมเรื่อย ๆ
  • การเป่าลมเข้าปาก ผู้ช่วยเหลือมีความเสี่ยงต่อการติดโรคจากการช่วยหายใจ เช่น โรคโควิด-19 ไวรัสตับอักเสบเอ ผู้ช่วยเหลือจึงสามารถเลือกการช่วยฟื้นคืนชีพ โดยการกดหน้าอกอย่างต่อเนื่อง 200 ครั้ง หรือประมาณ 2 นาที

2. วิธีการทำ CPR ในเด็ก (อายุ 1-8 ปี)

  • ขั้นตอนที่ 1 : กดหน้าอก 30 ครั้ง
    กดหน้าอกโดยใช้ส้นมือวางลงบนกึ่งกลางกระดูกหน้าอก (จะใช้มือเดียวหรือสองมือประสานกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดตัวเด็ก) และกดหน้าอกอย่างน้อย 1/3 ของความลึกทรวงอก (ประมาณ 2 นิ้ว หรือ 5 เซนติเมตร) ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้ง/นาที
  • ขั้นตอนที่ 2 : ผายปอด 2 ครั้ง
    เชยคางให้ท่อหายใจเปิดออก และใช้มืออีกข้างหนึ่งบีบจมูกเด็ก แล้วเอาปากครอบเฉพาะปากเด็กให้สนิท เป่าลมจนหน้าอกขยับขึ้นนาน 1 วินาที ผายปอดติดต่อกัน 2 ครั้ง แล้วกลับไปกดหน้าอก ทำซ้ำเดิมเรื่อย ๆ

3. วิธีการทำ CPR ในทารก (อายุ 0-1 ปี)

  • ขั้นตอนที่ 1 : กดหน้าอก 30 ครั้ง
    กดหน้าอกโดยใช้ปลายนิ้วมือ 2 นิ้วกดกลางกระดูกหน้าอก ความลึก 1.5 นิ้ว อัตราเร็ว 100-120 ครั้ง/นาที
  • ขั้นตอนที่ 2 : ผายปอด 2 ครั้ง
    เชยคางขึ้นเล็กน้อยเพื่อเปิดท่อหายใจ แล้วเอาปากครอบทั้งปากและจมูกของเด็กทารก เป่าลมจนหน้าอกขยับขึ้นนาน 1 วินาที ผายปอดติดต่อกัน 2 ครั้ง แล้วกลับไปกดหน้าอก ทำซ้ำเดิมเรื่อย ๆ
  • กรณีที่มีผู้ช่วยเหลือ 2 คน ให้ปรับเปลี่ยนอัตราการกดหน้าอกจาก 30 ครั้ง ผายปอด 2 ครั้ง มาเป็นกดหน้าอก 15 ครั้ง ผายปอด 2 ครั้ง แล้วประเมินซ้ำเมื่อครบทุก ๆ 10 รอบ

อันตรายจากการทำ CPR ผิดวิธี
1. การวางมือผิดตำแหน่ง อาจส่งผลทำให้ซี่โครงหักได้ ซึ่งถ้าซี่โครงหักอาจจะไปทิ่มแทงโดนอวัยวะที่สำคัญ เช่น ปอด ตับ ม้าม แล้วทำให้เกิดการตกเลือด และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
2. การกดหน้าอกด้วยอัตราความเร็วที่มากเกินไป เบาเกินไป หรือถอนแรงหลังกดออกไปไม่หมด อาจทำให้มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อย และทำให้ขาดออกซิเจนได้
3. การกดหน้าอกแรงและเร็วเกินไป อาจทำให้กระดูกหน้าอกขึ้นลงอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้กระดูกหัก หรือหัวใจช้ำได้
4. การกดหน้าอกลงไปลึกเกินไป อาจส่งผลให้หัวใจช้ำได้
5. การเปิดทางเดินหายใจไม่เต็มที่ หรือการเป่าลมมากเกินไป ทำให้ลมเข้าในกระเพาะอาหาร เกิดอาการท้องอืด อาเจียน ทำให้ลมไม่เข้าปอด หรือเข้าปอดไม่สะดวก และทำให้ปอดขยายตัวได้อย่างไม่เต็มที่

แหล่งข้อมูล : โครงการส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพปอดเด็ก ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย, เว็บไซต์ Hello คุณหมอ

Related Articles

การประเมินแผลกดทับ

แผลกดทับ (Pressure Ulcers) หมายถึง การบาดเจ็บของผิวหนังและ/หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง โดยส่วนมากอยู่ที่บริเวณเหนือปุ่มกระดูก ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกด (Pressure) หรือแรงกดร่วมกับแรงเฉือน (Shear) ปัจจัยภายในที่สัมพันธ์กับการเกิดแผลกดทับ มีดังนี้

CPR การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน สำหรับผู้ใหญ่

จากคราวที่แล้วที่เราได้เรียนรู้การทำ CPR ผู้ใหญ่ เด็ก และทารกกันไปแล้ว วันนี้พี่เนิร์สได้ทำคลิปสอนการทำ CPR การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ใหญ่อย่างถูกวิธีมาฝากทุกคนค่ะ

Responses