วางแผนเกษียณก่อนวัย เกษียณยังไงให้เกษมสันต์

วางแผนเกษียณ

การเกษียณอายุ หมายถึง การหยุดทำงานประจำ + ไม่มีรายได้หลักอีกต่อไป

ดังนั้น เราจึงควรเตรียมความพร้อมและเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้มีเงินออมอย่างมั่นคงไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ

เราต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ?

สมมุติว่าปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยอยู่ประมาณเดือนละ 30,000 บาท ตั้งใจเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 80 ปี เราสามารถคำนวณจำนวนเงินที่ควรจะมี ณ วันเกษียณอายุ ได้ดังนี้
= (70%ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน) x 12 เดือน x จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ
= (70%x30,000 บาท) x 12 เดือน x 20 ปี
= 5,040,000 บาท

การวางแผนการเงิน ให้มีเงินพอใช้หลังเกษียณ ควรแบ่งเงินลงทุนออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 : เงินลงทุนระยะสั้น
เงินออมส่วนนี้เป็นการฝากธนาคารในรูปแบบออมทรัพย์และฝากประจำระยะสั้น เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เป็นต้น

ส่วนที่ 2 : เงินลงทุนระยะกลาง
การออมเงินระยะกลาง มักมีเป้าหมายที่ต้องใช้เงินในช่วง 1-5 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต หรือยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เช่น ซื้อบ้าน ดาวน์รถ หรือเก็บเงินแต่งงาน แนะนำให้นำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน เป็นต้น

ส่วนที่ 3 : เงินลงทุนระยะยาว
เงินออมส่วนนี้เป็นการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

3.1 แหล่งรายได้หลังเกษียณ มีดังนี้

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ PVD (Provident Fund)
ถือว่าเป็นสวัสดิการรูปแบบหนึ่งที่นายจ้างและลูกน้องสมัครใจร่วมสมทบเงินเข้ากองทุน เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ

กองทุนประกันสังคม
เงินที่นายจ้างและลูกจ้างส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในอัตราร้อยละ 5 หลังจากเกษียณอายุจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
กรณีเป็นข้าราชการจะได้รับสวัสดิการกบข. โดยหักเงินเดือนเริ่มต้นที่ 3% และรัฐช่วยออกสมทบให้ 3% เพื่อมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ

  • บำนาญ = [เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ (ปี)] หาร 50 แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
  • บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ (ปี)

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
กอช. เป็นกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ ทุกครั้งที่ส่งเงินสะสม รัฐบาลจะช่วยสมทบให้ฟรี แบ่งเป็น 3 ช่วงอายุ ดังนี้

  • ช่วงอายุ 15-30 ปี รัฐช่วยสมทบ 50% ของเงินสะสม สูงสุด 600 บาทต่อปี
  • ช่วงอายุ 31-50 ปี รัฐช่วยสมทบ 80% ของเงินสะสม สูงสุด 960 บาทต่อปี
  • ช่วงอายุ 51-60 ปี รัฐช่วยสมทบ 100% ของเงินสะสม สูงสุด 1,200 บาทต่อปี
    ผู้สมทบเงินเข้ากองทุนจะได้เงินบำนาญรายเดือนหลังจากอายุครบ 60 ปี กองทุนนี้เหมาะสำหรับกลุ่มอาชีพอิสระ ยกเว้นข้าราชการประจำ ผู้มีสิทธิ์ประกันสังคม หรือประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 และพนักงานบริษัท/องค์กร/รัฐวิสาหกิจที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เป็นสวัสดิการที่รัฐมีไว้เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสียชีวิตแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ ดังนี้

  • ช่วงอายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาทต่อเดือน
  • ช่วงอายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาทต่อเดือน
  • ช่วงอายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาทต่อเดือน
  • ช่วงอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท ต่อเดือน

3.2 แบ่งเงินออมเกษียณไปลงทุนเพื่อให้งอกเงย มีดังนี้

กองทุนรวมเพื่อการออม SSF (Super Saving Fund)
กองทุน SSF สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 200,000 บาท ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่จะสามารถขายได้เมื่อลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF (Retirement Mutual Fund)
กองทุน RMF สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 500,000 บาท เหมาะสำหรับผู้ที่มีสวัสดิการและผู้ที่ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่ต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีและจะขายได้เมื่ออายุครบ 55 ปี

การทำประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity)
ประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินคล้ายประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ โดยจ่ายเบี้ยประกันตามระยะเวลาที่ระบุ และต้องออมเงินอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุเกษียณ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และยังมีวงเงินคุ้มครองให้กรณีเสียชีวิต

ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยให้เช่า
ดอกเบี้ยในการกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละถึง 100,000 บาท ดังนั้นการลงทุนเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์แล้วปล่อยเช่า เช่น คอนโด ทาวน์โฮม จึงสามารถเก็บเป็นทรัพย์สินในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง

แหล่งข้อมูล : ธนาคารกรุงศรี, ธนาคารไทยพาณิชย์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET), กรุงเทพธุรกิจ, itax

Related Articles

การประเมินแผลกดทับ

แผลกดทับ (Pressure Ulcers) หมายถึง การบาดเจ็บของผิวหนังและ/หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง โดยส่วนมากอยู่ที่บริเวณเหนือปุ่มกระดูก ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกด (Pressure) หรือแรงกดร่วมกับแรงเฉือน (Shear) ปัจจัยภายในที่สัมพันธ์กับการเกิดแผลกดทับ มีดังนี้

Responses