การฉีดยาเข้าสู่ร่างกาย ต้องรู้อะไรบ้าง?

การฉีดยา

การฉีดยา ยาที่ให้โดยการฉีดจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเร็วกว่าการให้ยาโดยวิธีอื่น การให้ยาโดยการฉีด สามารถแบ่งออกได้ 4 วิธี ดังนี้

1. การฉีดยาเข้าชั้นผิวหนัง (ID : Intradermal injection)

  • วัตถุประสงค์ : เพื่อทดสอบปฏิกิริยาของร่างกายต่อยาปฏิชีวนะ และทดสอบภูมิแพ้
  • ตำแหน่งฉีดยา : บริเวณหน้าแขนหรือต้นแขน ในบางครั้งอาจฉีดบริเวณหลังหรือต้นขาก็ได้
  • องศาในการแทงเข็ม : ทำมุม 5-15 องศากับผิวหนัง

อุปกรณ์
1. ยาที่จะใช้ฉีด
2. กระบอกฉีดยา ขนาด 1 ml. (Tuberculin syringe)
3. เข็มเบอร์ 25-27 G ความยาว 1/2- 2/3 นิ้ว เพื่อใช้ฉีดยา
4. เข็มเบอร์ 18-21 G เพื่อใช้ดูดยา
5. สำลีแอลกอฮอล์ 70% และสำลีแห้งปราศจากเชื้อ
6. บัตรให้ยา (ใบ MAR)

ตัวอย่างชนิดยาฉีดเข้าชั้นผิวหนัง
1. การทดสอบภูมิแพ้ของร่างกายต่อยาเพนนิซิลลิน (Penicillin test)
2.ยาต้านพิษบาดทะยัก (Tetanus antitoxin test)
3. การทดสอบภูมิต้านทานวัณโรค (Tuberculin test หรือ Purified protein derivative test = PPD)
4.ทดสอบโรคภูมิแพ้ (Allergic disease) หรือให้ภูมิคุ้มกันโรค หรือฉีดยาชาเฉพาะที่
ข้อควรระวัง : การดึงผิวหนังในการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ให้ใช้มือข้างที่ถนัดจับเข็ม ใช้นิ้วหัวแม่มือกดที่ผิวหนังบริเวณต่ำกว่าและเยื้องไปด้านข้างของบริเวณที่จะแทงเข็ม และดึงผิวหนังให้ตึง ภายหลังการฉีดยาชั้นใต้ผิวหนัง ห้ามคลึงบริเวณที่ฉีดยา

2. การฉีดยาเข้าใต้ชั้นผิวหนัง (SC : Subcutaneous injection)

  • วัตถุประสงค์ : เพื่อให้ยาดูดซึมได้ดีในชั้นไขมัน ปริมาณยาที่ใช้ฉีดไม่เกิน 2 ml.
  • ตำแหน่งฉีดยา : บริเวณต้นแขนด้านหลัง หน้าขา และหน้าท้องรอบ ๆ สะดือ
  • องศาในการแทงเข็ม : ทำมุม 45-90 องศากับผิวหนัง

อุปกรณ์
1. ยาหรือวัคซีนที่จะฉีด
2. กระบอกฉีดยา (Syringe) ขนาด 2 ml.
3. เข็มเบอร์ 24 หรือ 25-26 G ความยาว 1 นิ้ว เพื่อใช้ฉีดยา
4. เข็มเบอร์ 18-21 G เพื่อใช้ดูดยา
5. สำลีแอลกอฮอล์ 70% และสำลีแห้งปราศจากเชื้อ
6. บัตรให้ยา (ใบ MAR)

ตัวอย่างชนิดยาฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนัง
1. การให้อินซูลินสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
2. วัคซีน MMR ป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน
3. วัคซีนอีสุกอีใส (OKAVAX, Varicllar, Varivax)
4. วัคซีน MMRV ป้องกันคางทูม-อีสุกอีใส
5. วัคซีน JE (Live มี 2 ยี่ห้อ CD-JEVAX, IMOJEV) ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี
6. วัคซีน Dengvaxia ป้องกันไข้เลือดออก

ฉีดยา

3. การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ (IM : Intramuscular injection)

  • วัตถุประสงค์ : เพื่อให้ยาที่ดูดซึมได้ดีในชั้นกล้ามเนื้อ และต้องการให้ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้น
  • ตำแหน่งฉีดยา : กล้ามเนื้อต้นแขน Deltoid muscle กล้ามเนื้อสะโพกบริเวณ Posterior gluteal site (Dorsogluteal site) กล้ามเนื้อสะโพกบริเวณ Ventrogluteal site (Von Hochstetter’s site) และกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอก Vastus lateralis
  • องศาในการแทงเข็ม : ทำมุม 45-90 องศากับผิวหนัง

อุปกรณ์
1. ยาที่ใช้ฉีด
2. กระบอกฉีดยา (Syringe) ขนาด 2 -5 ml.
3. เข็มเบอร์ 23-27 G ความยาว 1 – 1.5 นิ้ว เพื่อใช้ฉีดยา
4. เข็มเบอร์ 18-21 G เพื่อใช้ดูดยา
5. สำลีแอลกอฮอล์ 70% และสำลีแห้งปราศจาคเชื้อ
6. บัตรให้ยา (ใบ MAR)

ตัวอย่างชนิดยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
1. กลุ่มยาฆ่าเชื้อ
2. กลุ่มยาแก้ปวด
3. วัคซีน Influenza ป้องกันไข้หวัดใหญ่
4. วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก
5. วัคซีน dT หรือ TdaP ป้องกันบาดทะยักและคอตีบ
6. วัคซีน DTaP-IPV-Hib-HBV ป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-วัคซีนโปลิโอ-วัคซีนฮิป-วัคซีนตับอักเสบบี

ข้อควรระวัง : การฉีดยาเข้าชั้นกล้ามเนื้อ ยาจะถูกดูดซึมเร็วกว่าการฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง เนื่องจากชั้นกล้ามเนื้อมีหลอดเลือดหล่อเลี้ยงมากกว่าชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้มีความเสี่ยงที่ปลายเข็มจะไปโดนหลอดเลือด ดังนั้น พยาบาลจะต้องวัดตำแหน่งฉีดยาอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันปลายเข็มแทงโดนหลอดเลือดหรือเส้นประสาท

4. การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ (IV : Intravenous injection)

  • วัตถุประสงค์ : เพื่อให้ยาดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้โดยตรง และออกฤทธิ์ได้ทันที
  • ตำแหน่งฉีดยา : บริเวณ Median basilica และ Cephalic vein ซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของ แขน และบริเวณข้อพับ ข้อศอก เส้นเลือดบริเวณข้อมือ ทางด้านนิ้วหัวแม่มือและเส้นเลือดบริเวณหลังมือ
  • องศาในการแทงเข็ม : ทำมุม 10-15 องศากับผิวหนัง

อุปกรณ์
1. ถาดปราศจากเชื้อพร้อมฝาปิด
2. กระบอกฉีดยา ขนาด 5-50 ml.
3. ยาตามแผนการรักษา
4. เข็มเบอร์ 20-24 G ความยาว 1-1.5 นิ้ว
5. สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% และสำลีแห้งปราศจากเชื้อ
6. บัตรให้ยา (ใบ MAR)
7. สายยางรัดแขน (Tourniquet)
8. ชามรูปไต
9. พลาสเตอร์ พร้อมกรรไกรตัดพลาสเตอร์

ตัวอย่างชนิดยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
1. กลุ่มยาฆ่าเชื้อ
2. กลุ่มยาแก้ปวดฤทธิ์รุนแรง
3. ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
4. ยาเคมีบำบัด

ข้อควรระวัง : ห้ามให้ยาทางหลอดเลือดดำร่วมกับการให้เลือด ผลิตภัณฑ์ของเลือด สารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดเด็ดขาด

การให้ยาฉีดจะต้องปฏิบัติตามหลักการอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อและการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง

แหล่งข้อมูล : วิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, เว็บไซต์ HonestDocs, เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว

Related Articles

การเลือกใช้และลำดับการบรรจุเลือดลงหลอดเก็บเลือด

หลอดเก็บเลือดเป็นหลอดแก้วที่ผ่านขบวนการปลอดเชื้อด้วยการอาบรังสี และถูกผนึกด้วยจุกพลาสติกเพื่อรักษาสภาพสุญญากาศ นอกจากนี้จุกยังมีสีต่าง ๆ ตามสารกันเลือดแข็งที่บรรจุอยู่ เพื่อความสะดวกต่อผู้ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ