การฟังเสียงปอด
การฟังเป็นการตรวจภายในทรวงอกที่สําคัญและจําเป็น โดยใช้หูฟัง (Stethoscope) ขณะฟังต้องสังเกต
1. เสียงหายใจ (Breath sound) เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของอากาศ ในหลอดลมในขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก ให้ผู้รับบริการหายใจเข้าออกแรงๆ จะทําให้ได้ยินเสียงหายใจผ่านหลอดลมและปอดได้ชัดเจน เสียงหายใจที่ได้ยินตามตําแหน่งต่างๆ ได้แก่
1.1 เสียงหลอดลมใหญ่ (Tracheal breath sound)
- เป็นเสียงที่เกิดจาก ลมผ่านเข้าออกในหลอดลมใหญ่ ฟังได้ยินตรงตําแหน่ง ที่หลอดลมตั้งอยู่
บริเวณคอด้านหน้าและคอด้านหลัง ลักษณะการหายใจ ขณะหายใจเข้าสั้น และหายใจออกยาว
1.2 เสียงหลอดลม (Bronchial breath sound)
- ฟังได้ยินบริเวณ ส่วนกลางของทรวงอกด้านบน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
มีลักษณะเป็นเสียงผสมระหว่างเสียงถุงลมกับเสียงหลอดลม
1.3 เสียงถุงลม (Vesicular breath sound)
- ฟังบริเวณทรวงอก ตรงตําแหน่งชายปอดทั้ง 2 ข้าง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นเสียงที่เกิดจากลม ผ่านเข้าออกในเนื้อเยื่อปอด ลักษณะเสียงหายใจที่ได้ยินขณะหายใจเข้าจะดังและยาวกว่า ขณะหายใจออก
2. ความก้องของเสียง (Voice sound) คือเสียงที่พูดออกมาจากลําคอ เช่นให้ นับเลข 99 – 99 – 99 ใช้หูฟังตามตำแหน่งต่างๆ บนผนังทรวงอก จะได้ยินความก้องของเสียงทางหูฟัง เรียกว่า Vocal fremitus หรือ Auditory fremitus ทั้งนี้เพราะเนื้อเยื่อปอดมีคุณสมบัติในการนําคลื่นเสียง ในคนปกติปอดทั้ง 2 ข้าง มีความก้องของเสียงเท่าๆกัน โดย ความแรงและความก้องของเสียงขึ้นอยู่กับเนื้อเยื่อของปอด การฟังต้องฟังทรวงอกทั้งซ้ายและขวาเพื่อเปรียบเทียบกัน
ถ้าความก้องของเสียง มีลักษณะดังและชัดกว่าปกติ เรียกว่า Bronchophony พบได้ในภาวะ Consolidation ของเนื้อปอด เช่นปอดอักเสบ เป็นต้น แต่ถ้าความก้องของเสียงลดน้อยลงไป เสียงที่ได้ยินเรียก Whispering pectoriloguy แสดงว่ามีของเหลวหรือลมมากั้นระหว่างผนังหน้าอกกับหลอดลม
3. เสียงผิดปกติอื่นๆ (Adventitious sound) แสดงว่ามีพยาธิสภาพ เกิดขึ้นในหลอดลมและปอดเสียงผิดปกติที่พบบ่อยแบ่งออกเป็นกลุ่มได้ 2 กลุ่ม คือ
- พวกกลุ่มเสียงที่มีความชื้นจากของเหลว(Moist Sounds) เช่น เสียง Rales, Crepitation
- อีกกลุ่มเป็นเสียงที่ไม่มีของเหลว (Dry Sounds) ได้แก่ เสียงพวก Rhonchi , Stridor , Pleural friction rub
3.1 Crepitation , crackle, rales เป็นความหมายเดียวกันหมดแต่ทาง American Thoracic Society
(ATS) จะใช้ crackle
- เป็นเสียงที่เกิดขึ้นในหลอดลมและถุงลม หลอดลมแขนงเล็กๆ ที่มีน้ำเสมหะ ขณะหายใจออกถุงลมจะแฟบ ถ้ามีน้ำเมือกหรือ เสมหะอยู่จะทําให้ถุงลมแฟบติดกัน พอหายใจเข้าลมจะดันถุงลมให้พองออก จึงเกิดเสียงกรอบแกรบ
ลักษณะของเสียงที่ได้ยินจะคล้ายเสียงแตกของ ฟองอากาศ หรือเสียงเหมือนขยี้ผมใกล้ๆหู
3.2 Rhonchi และ Wheeze
- เกิดจากทางเดินหายใจแคบหรือตีบลง เนื่องจากการเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม การบวมของเยื่อบุทางเดินหายใจ มีเสมหะหรือเนื้องอก ทําให้มีการอุดตันเป็นบางส่วน ลักษณะของเสียงที่ได้ยินคล้ายเสียงกรนของแมวดังต่อเนื่องกัน เสียงที่ได้ยินจะแตกต่างกันเป็นเสียงสูงเสียงต่ำขึ้นอยู่กับขนาดการตีบของรูหลอดลม Sonorous rhonchi เป็นเสียงที่ลมหายใจวิ่งผ่านหลอดลมที่ขรุขระจากการอักเสบหรือมีเสมหะเหนียวติดอยู่เป็นหย่อมๆ ถูกขับออกมาไม่ได้เสียงที่ได้ยินจะเป็นเสียงต่ำ ดังกรอบแกรบ ได้ยินทั้งช่วงหายใจเข้าและหายใจออก แต่จะได้ยินชัดเจนขณะหายใจออกมากกว่าขณะหายใจเข้า เกิดขึ้นในหลอดลมขนาดใหญ่ Sibilant rhonchi หรือ Wheeze เกิดขึ้นในหลอดลมเล็กๆ มีการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อหลอดลม ทําให้ลมหายใจผ่านหลอดลมแคบๆ ที่มีความต้านทานสูงด้วยความลําบาก จึงทําให้เกิดเสียงสูงลักษณะเสียงที่ได้ยินดังวี้ดๆ หรือฮื้อๆอาจได้ยินโดยไม่ต้องใช้หูฟังได้ยินในขณะหายใจออกมากกว่าหายใจเข้า พบในผู้ที่มีอาการหอบหืด หลอดลมอักเสบ
3.3 Stridor
เสียงดังอื้ดๆ บางทีไม่ต้องใช้หูฟังก็ได้ยิน จริงๆ เด่นช่วงหายใจเข้าแต่ถ้ารุนแรงมากอาจมีทั้งช่วงหายใจเข้าและออกเป็นเสียงหายใจที่เกิดจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เกิดเสียง stridor และจะมีอาการหายใจลำบาก โดยเฉพาะช่วงหายใจเข้า (force inspiration)
3.4 Friction rub or Plural rub
- เป็นเสียงที่เกิดขึ้นเนื่องจากเยื่อหุ้มปอด เกิดการอักเสบ เวลาหายใจทําให้เกิดเสียงเสียดสีกันขึ้น ลักษณะเสียงคล้ายเสียงที่ใช้ฝ่ามือปิดหูข้างหนึ่งไว้แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งถูไปมาบนหลังมือของฝ่ามือข้างที่ปิดหูไว้จะได้ยินเสียงเสียดสีคล้ายเสียงของเยื่อหุ้มปอดเสียดสีกัน โดยทั่วไปจะได้ยินเสียงทั้งช่วงหายใจเข้าและหายใจออก แต่จะได้ยินชัดเจนในช่วงท้ายของการหายใจเข้าในคนปกติเยื่อหุ้มปอดเสียดสีกันไม่มีเสียง เพราะเยื่อหุ้มปอดเรียบและมีน้ำหล่อลื่นอยู่ เสียง Plural rub จะได้ยินชัดบริเวณทรวงอกด้านข้างใต้รักแร้
มาฝึกฟังปอดกันค่ะ
แหล่งที่มาของข้อมูล :
- ดร.ฐิติอาภา ตั้งค้าวานิช การประเมินระบบทางเดินหายใจ โครงการตำราคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- รังสิมา ภูมิสวัสดิ์ การประเมินสุขภาพระบบหายใจทรวงอกและปอด คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- วิบูลย์ บุญสร้างสุข พ.บ.,หน่วยโรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต, ภาควิชาอายุรศาสตร์,คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- สุรางค์ เจียมจรรยา พ.บ. ,ศาสตราจารย์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี,มหาวิทยาลัยมหิดล
- FB : เมื่อไหร่ จะจำได้
- https://www.anatomynote.com/disease-anatomy/
- Youtube: NCLEX Study Guide Channel