การปลูกถ่ายไขกระดูกทำกันอย่างไร

การปลูกถ่ายไขกระดูก

การปลูกถ่ายไขกระดูกทำกันอย่างไร

ในการที่จะทำการปลูกถ่ายไขกระดูกนั้น ผู้ป่วยที่จะได้รับไขกระดูก เรียกว่าผู้รับ และผู้ที่จะให้ไขกระดูก เรียกว่า ผู้ให้ การปลูกถ่ายไขกระดูกง่ายกว่าการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นมาก ทำได้โดย ดูดไขกระดูกจากกระดูกบริเวณก้นกบของผู้ให้ นำไขกระดูกที่ได้ไปกรอง และให้ผู้ป่วยโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ผู้ให้จะมีอาการเจ็บเล็กน้อยบริเวณที่เจาะเพียง 2-3 วันเท่านั้น จะไม่มีอันตรายอย่างอื่นเลย การปลูกถ่ายไขกระดูกต่างจากการปลูกถ่ายอวัยวะอื่น เช่น การปลูกถ่ายไต ผู้ให้จะต้องเสียไตไปข้างหนึ่ง และแพทย์จะต้องทำการผ่าตัดนำไตเข้าไปอยู่ในตัวผู้ป่วย แต่การปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ให้ถูกดูดไขกระดูกออกไป แต่ร่างกายจะสามารถสร้างไขกระดูกขึ้นมาชดเชยได้ ผู้ให้มิได้เสียอวัยวะของตนเองเหมือนกับการบริจาคอวัยวะอื่น จึงเปรียบเหมือนกับการบริจาคเลือดเท่านั้น ไม่มีอันตรายต่อผู้ให้เลย ในการเจาะไขกระดูกเนื่องจากต้องการไขกระดูกจำนวนมาก ใช้เวลาเจาะนาน จึงมักดมยาสลบผู้ให้ก่อน

ผู้ให้ที่ดีที่สุดควรเป็นคู่แฝดไข่ใบเดียวกัน ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันทุกอย่าง ร่างกายผู้ป่วยก็จะรับ ไขกระดูกโดยที่ไม่มีอัตราเสี่ยงที่จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน แต่โอกาสที่ผู้ป่วยจะมีคู่แฝดไข่ใบเดียวกันมีน้อย ดังนั้น ในการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยทั่วไป มักใช้ไขกระดูกจากพี่น้องท้องเดียวกัน โดยตรวจลักษณะทางพันธุกรรม ที่เรียกว่า เอชแอล เอ แอนติเจน (HLA Antigen) ซึ่งถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่อย่างละครึ่ง จะเลือกใช้ผู้ให้ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมดังกล่าวเหมือนกัน ซึ่งมีโอกาสร้อยละ 25 ในกรณีที่เป็นโรคมะเร็ง อาจใช้ไขกระดูกของตัวเองเจาะเก็บไว้ในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ –196 องศา โดยมีไดเมธิลซัลฟอกไซด์ เก็บไว้ให้กับผู้ป่วยหลังให้ยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาในขนาดสูง

การปลูกถ่ายไขกระดูกแบ่งเป็น 2 แบบ

1. การปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้กระดูกของตนเอง (Autologous Bone Marrow Transplantation)

ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งชนิดร้ายแรง หรือดื้อต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยวิธีนี้ หลักการของการรักษาคือ การให้ยาเคมีบำบัดในขนาดสูงแก่ผู้ป่วย แล้วตามด้วยการให้เซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งอาจนำมาจากไขกระดูกของผู้ป่วยเอง หรือในปัจจุบันเรามักเลือกใช้การเก็บเซลล์ต้นกำเนิดออกมาในกระแสโลหิตประมาณ 4-5 วัน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับการใส่สายสวนหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ เพื่อนำเลือดของผู้ป่วยผ่านเข้าเครื่อง และแยกเอาเฉพาะเซลล์ต้นกำเนิดและเม็ดเลือกขาวออกมา เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดก็จะคืนให้แก่ผู้ป่วย การนำเซลล์ต้นกำเนิดกลับให้ผู้ป่วยจะทำให้เม็ดเลือดของผู้ป่วยกลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว การรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหลังการได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูง เช่น การติดเชื้อ และการมีแผลในปาก

2. ารปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้ไขกระดูกของผู้อื่น (Allogeneic Bone Marrow Transplantation)

เนื่องจากไขกระดูก หรือเซลล์ต้นกำเนิดของผู้อื่นถือว่ามีสิ่งแปลกปลอม ร่างกายจะต้องกำจัด ดังนั้นก่อนที่จะให้ไขกระดูกผู้อื่น จึงต้องมีการเตรียมผู้ป่วยโดยการให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง หรือสองอย่างรวมกัน (Preparative regimen) วิธีการนี้จะทำลายเซลล์ในไขกระดูกของผู้ป่วย และกดภาวะภูมิคุ้มกันด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยยอมรับเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกของผู้อื่น นอกจากนี้วิธีการนี้ยังทำลายเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ก่อนทำการปลูกถ่ายไขกระดูก ในผู้ป่วยมะเร็งอีกด้วย

การดูแลผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายไขกระดูก

เนื่องจากต้องเตรียมผู้ป่วยก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก ด้วยการให้ยากดภูมิคุ้มกัน เคมีบำบัด และรังสีรักษา ซึ่งจะมีผลทำให้ร่างกายผู้ป่วย อ่อนแอลง ดังนั้นในระยะ 2-4 สัปดาห์ ก่อนที่ไขกระดูกที่เข้าไปใหม่จะเริ่มสร้างเม็ดเลือดจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยเป็นพิเศษ ระวังอันตรายที่จะเกิดจากการติดเชื้อ เลือดออกผิดปกติ ให้เลือดและเกล็ดเลือดทดแทนให้อาหารทางหลอดเลือดดำในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยไม่เพียงพอ

ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

  • โรคติดเชื้อ
  • เลือดออกผิดปกติ
  • ปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน

เป็นผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น ในช่วงระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ หลังการปลูกถ่ายไขกระดูก เม็ดเลือดขาวที่ต่ำจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อ ทั้งจากแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสได้บ่อย นอกจากนี้ยังมีเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งทำให้เลือดออกผิดปกติ ปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน ได้แก่ ปฏิกิริยาของร่างกายผู้ป่วยไม่ยอมรับไขกระดูกจากผู้ให้พบได้ไม่บ่อย แต่ที่พบได้บ่อยกว่าคือปฏิกิริยาของไขกระดูกต่อผู้รับ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีผื่นที่ผิวหนัง ตัวเหลือง ท้องเสีย ซึ่งถ้ารักษาไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายได้

การปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นวิวัฒนาการของการรักษาโรคต่างๆ ที่การรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผลหรือได้ผลไม่ดี การปลูกถ่ายไขกระดูกให้ผลการรักษาดีกว่าวิธีการรักษาวิธีอื่น แต่การปลูกถ่ายไขกระดูกก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่ายไขกระดูกค่อนข้างแพง การใช้วิธีปลูกถ่ายไขกระดูกในการรักษาผู้ป่วยจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเหล่านี้ดีขึ้น

การเตรียมผู้ป่วยก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก

การเตรียมผู้ป่วยที่จะรับการปลูกถ่ายไขกระดูก ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต่างๆ เช่น การที่ร่างกายผู้ป่วยไม่ยอมรับไขกระดูก การเกิดปฏิกิริยาต้านกันของไขกระดูกที่ได้จากผู้อื่น ถ้าผู้ป่วยเป็นมะเร็งจำเป็นต้องได้รับยาเคมีบำบัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกายก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก มิฉะนั้นมะเร็งจะกลับมาเป็นอีก

การปลูกถ่ายไขกระดูก จะมีการตรวจพิเศษมากมายเพื่อให้แน่ใจว่าคนไข้ทนต่อความยืดเยื้อ และภาระหนักต่อร่างกายหลังการปลูกถ่าย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเช็คหัวใจ ปอด ไต และอวัยวะสำคัญอื่นๆ ความสำเร็จของการปลูกถ่ายไขกระดูก ยังขึ้นกับความเชี่ยวชาญและความชำนาญของทีมงานที่ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาลและหน่วยสนับสนุนอื่นๆ เพราะจะได้ตรวจพบปัญหาที่เกิดขึ้นแต่เนิ่นๆ แล้วตอบสนองโดยการแก้ปัญหาอย่างฉับไว

วิธีการเก็บไขกระดูกหรือการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต

ไม่ว่าจะเป็นไขกระดูกของคนไข้หรือผู้บริจาค การเก็บไขกระดูกหรือการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจะทำวิธีเดียวกัน โดยใช้เข็มเจาะกระดูกสะโพกด้านหลังหรือกระดูกขอบบนของสะโพกซึ่งเป็นบริเวณที่มีไขกระดูกอยู่เยอะ การเจาะจะทำในห้องผ่าตัด โดยมีมารตราการปลอดเชื้อเคร่งครัดเหมือนการผ่าตัดใหญ่ สำหรับกรณีการบริจาคไขกระดูกให้ตัวเอง แพทย์จะนำไขกระดูกไปแช่แข็งที่อุณหภูมิระหว่าง -80 ถึง -195 องศาเซลเซียสจนกว่าจะถึงวันปลูกถ่าย

แหล่งที่มา : ศ.นพ. สามารถ ภคกษมา สาขากุมารเวชศาสตร์ อนุสาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ , เว็บไซต์โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ , www.oncolink.org/cancer-treatment

Related Articles