กลุ่มอาการ PMS/PMDD ก่อนมีประจำเดือน

PMS-PMDD

สาวๆ คุณเคยมีอาการดังต่อไปนี้หรือเปล่า? อารมณ์แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน เศร้า หดหู่ เซ็ง หงุดหงิด น่าเบื่อไปหมดทุกอย่าง อาการเหวี่ยงวีนของสาวๆ ก่อนมีประจำเดือน บางทีสาวๆ อย่างเราก็ยังไม่เข้าใจตัวเองเลย วันนี้พี่เนิร์สจึงขอพาทุกคนมาเช็คอาการที่เรามักจะเป็นก่อนมีประจำเดือน ว่าเราจัดอยู่ในกลุ่มอาการแบบไหน ต้องรักษาไหม?
ไปดูกันเลย

เราเป็น PMS ,PMDD หรือเปล่า?

1. เราเป็น PMS, PMDD หรือเปล่า ?

PMS (Premenstrual Syndrome) คือ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน เป็นภาวะอาการที่รู้สึกว่าตนเองป่วย มี

  • อาการทางร่างกาย เช่น คัดตึงเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หิวบ่อย ตัวบวม ไม่มีแรง ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดท้องน้อย ท้องอืด ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ สิวขึ้น
  • มีอาการทางด้านจิตใจ อารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย เครียด กังวลหรือซึมเศร้า เบื่อหน่าย อารมณ์แปรปรวน

ซึ่งอาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจเหล่านี้ โดยอาจเกิดอาการเฉลี่ยอยู่ที่ 7-10 วันก่อนการมีประจําเดือน อาการจะดีขึ้นหลังหมดประจำเดือน PMS มักไม่ทำให้เกิดอาการร้ายแรง แต่ในบางกรณีอาจนำไปสู่อาการร้ายแรงอย่าง Premenstrual Dysphoric Disorder (PMDD)ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะพบเพียง 2-10% จากจำนวนหญิงที่มีประจำเดือนทั้งหมดค่ะ

PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) คือ กลุ่มอาการผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจอย่างรุนแรงก่อนมีประจำเดือน โดยมีอาการโดดเด่นทางด้านอารมณ์เด่นๆ แบ่งออกเป็น 4 อย่าง คือ

  • อารมณ์หงุดหงิดง่าย พบบ่อยเป็นอันดับหนึ่ง บางครั้งไม่สามารถระงับอารมณ์ได้ อารมณ์รุนแรง
  • อารมณ์เศร้า เช่น เบื่อหน่าย สิ่งเดิมที่เคยชอบก็ไม่อยากทำ หดหู่มากขึ้น ท้อแท้และเศร้าเป็นอย่างมาก
  • อารมณ์กังวล บางครั้งเป็นความกังวลล่วงหน้า กังวลกับสิ่งเดิมที่ยังไม่เคยเกิด กังวลมากขึ้น
  • อารมณ์อ่อนไหวง่ายมากขึ้น แปรปรวนและเปลี่ยนแปลงไปได้ง่าย

ซึ่งอาการทางด้านอารมณ์ดังที่กล่าวมาจะรวมกับอาการทางด้านร่างกาย พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง เช่น การรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลงไป ทานมากขึ้นหรือลดลงอย่างเห็นได้ชัด การนอนเปลี่ยนแปลงไป นอนน้อยหรือนอนเยอะขึ้น สมาธิกับการจดจ่อกับสิ่งต่างๆแย่ลง อาจนำไปสู่ความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อเฉพาะในช่วงก่อนมีประจำเดือน ลักษณะของ PMDD จะต้องมีอาการ 7-10 วันก่อนประจำเดือนมาอย่างน้อย 2 รอบประจำเดือน

สาเหตุ PMS, PMDD?

2. สาเหตุ PMS, PMDD?

1. เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงครึ่งหลังของรอบเดือน โดยเฉพาะในรอบเดือนที่มีการตกไข่ (ในสตรี วัยเจริญพันธุ์จะมีประจำเดือนทุก 28-30 วัน การตกไข่จะเกิดขึ้น 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือนครั้งถัดไป และบ่อยครั้งก็มีประจำ เดือนได้โดยไม่มีการตกไข่)
2. ความเครียด
3. มีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อชีวิต
4. มีการลดลงของสาร Serotonin ในร่างกาย ซึ่งเป็นสารสำคัญของการรับส่งกระแสประสาท (Neurotransmitter) และสัมพันธ์กับภาวะทางอารมณ์/จิตใจ เช่น ความหงุด หงิด และความโกรธ

นอกจากนี้ ภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้า และ กรรมพันธุ์ล้วนมีผลกับอาการเหล่านี้อีกด้วย

3. รักษาอย่างไร

ทุกท่านคงสงสัยว่า หากมีอาการเหล่านี้ จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์ทำการตรวจรักษาหรือไม่? คำตอบคือ ไม่จำเป็นต้องมาตรวจรักษาทุกๆครั้งที่มีอาการ อาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หากเราสามารถสังเกตอาการ รู้จักแและเข้าใจอาการก่อนมีประจำเดือนของตนเอง และสามารถจัดการให้อาการเหล่านี้ไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ อาศัยการดูแลตัวเองแบบพื้นฐาน เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ กินผักผลไม้ให้มากขึ้น ลดอาหารหวานจัดเค็มจัด ชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ ก็ช่วยให้ห่างไกล หรือบรรเทาอาการของโรค PMS และ PMDD ได้ แต่ถ้าอาการเหล่านี้กระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือการใช้ชีวิตอยู่ ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการประเมินและตรวจรักษาให้อาการรุนแรงเหล่านี้หายไปได้ค่ะ

เรามาดูแนวทางการรักษาและการดูแลสุขภาพโดยรวมกันค่ะ

1. การดูแลตนเองให้ห่างไกล PMS , PMDD

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โปรตีน แคลเซียมและใยอาหาร เช่น ธัญพืชขัดสีน้อย ผัก และผลไม้ นม และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง โดยแบ่งรับประทานเป็นมื้อย่อย ๆ ในแต่ละวัน เพื่อลดอาการท้องอืด
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายสัปดาห์ 3–5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เช่น เดินเร็ว ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้าและอาการซึมเศร้าได้
  • พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง และจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น การทำสมาธิ การเล่นโยคะ การนวดผ่อนคลาย และการอ่านหนังสือ
  • จดบันทึกระยะเวลาและอาการ PMS ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน เพื่อเตรียมการรับมือกับอาการที่จะเกิดขึ้น

2. การใช้ยา

ยาที่ใช้บรรเทาอาการ PMS ประกอบด้วยยาที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป และยาที่แพทย์สั่งจ่าย ดังนี้

  • ยา NSAIDs เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยานาพรอกเซน (Naproxen) ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ อาการปวดเกร็งท้อง หรืออาการเจ็บเต้านม
  • ยาต้านเศร้า (Antidepressants) อย่างยากลุ่ม SSRI เช่น ยาฟลูอ็อกเซทีน (Fluoxetine) ยาพาร็อกซีทีน (Paroxetine) และยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) เพื่อใช้รักษาอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลที่เกิดจาก PMS หรือรักษาอาการขั้นรุนแรงอย่าง PMDD ซึ่งยานี้มักต้องรับประทานติดต่อกันจนกว่าอาการจะดีขึ้น แต่ผู้ป่วยบางรายอาจรับประทานเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการทางอารมณ์ก่อนการเริ่มมีประจำเดือนประมาณ 2 สัปดาห์
  • ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ใช้ในกรณีที่มีอาการแขนขาบวม ท้องอืด หรือน้ำหนักขึ้นโดยที่การควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารที่มีเกลือสูงและการออกกำลังกายไม่ได้ผล ยาขับปัสสาวะ อย่างยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) จะช่วยระบายของเหลวที่สะสมในร่างกายออกผ่านทางปัสสาวะ และบรรเทาอาการบวมน้ำจาก PMS
  • ยาคุมกำเนิดจะช่วยยับยั้งการตกไข่ และช่วยบรรเทาอาการ PMS เช่น อาการปวดเกร็งท้อง ปวดศีรษะ หรือปวดตามร่างกาย อย่างไรก็ตาม ยาคุมกำเนิดอาจทำให้กิดผลข้างเคียงได้ จึงควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • อาหารเสริมบางชนิด เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม วิตามินบี 6 วิตามินดี วิตามินอี และน้ำมันอีฟนิ่ง พริมโรส (Evening Primrose Oil) อาจช่วยบรรเทาอาการ PMS ได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทาน

3. การรักษาด้วยวิธีการอื่น

การรักษาอาการ PMS ในผู้ป่วยบางรายอาจใช้การรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การฝังเข็มเพื่อบรรเทาอาการ และการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) ซึ่งช่วยจัดการกับสภาวะอารมณ์ในแง่ลบที่เกิดจาก PMS และช่วยลดการรับประทานยาที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายของผู้ป่วย

ที่มา :

Related Articles