สังเกตตัวเองก่อนจะสายไป คุณเป็นมนุษย์เป็นพิษ หรือเปล่า?
Are you a toxic people?
พี่เนิร์สเชื่อว่า ทุกคนคงตั้งคำถามในใจ Toxic People คืออะไรหรอ?
ABIGAIL BRENNER, M.D., จิตแพทย์ชาวอเมริกันบอกว่า คนที่มีพฤติกรรมบ่อนทำลายความรู้สึก สร้างความน่าอึดอัดทุกครั้งที่ต้องปฏิสัมพันธ์ด้วย ทำให้เรารู้สึกแย่ ไม่มีความสุข หรือเลวร้ายที่สุดก็ส่ งผลต่อสุขภาพจิตเราอย่างมาก อาจจะทำให้เรามองเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลงเลยก็ได้คนเหล่านี้เรียกว่า TOXIC PEOPLE
บางทีเรามัวแต่ไปมองหาความ TOXIC ของคนอื่น แต่บางครั้งเราก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่ TOXIC ของคนอื่นได้เหมือนกัน!! ซึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ หากเรารู้เท่าทันอารมณ์ และหยุดที่จะแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ ที่เป็นมลพิษทางอารมณ์ได้ สังคมจะน่าอยู่เพียงใด งั้นเรามาเช็กลิสต์ตนเองกันเถอะ!!
TOXIC PEOPLE
1. คุณเป็นคนจอมบงการ
ข้อแรกของคนที่มีนิสัยเป็นพิษหรือ Toxic Person กัน คนเหล่านี้จะเป็นพวกเจ้ากี้เจ้าการ บงการและชอบควบคุมทุกอย่างให้เป็นดั่งใจตนเอง ไม่ใช่เพราะหน้าที่หรือสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ แต่เป็นเกือบจะทุกเรื่องในชีวิต คอยหรือจ้ำจี้จ้ำไชกับเรื่องส่วนตัวและชีวิตคนอื่นตลอดเวลา จนบางครั้งเลยขอบเขตและพื้นที่ของอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว
คนที่เป็นแบบนี้มักถูกผลักดันให้ควบคุมผลลัพธ์และคนรอบข้าง เพราะพวกเขารู้สึกกลัวว่าตัวเองจะสูญเสียการควบคุมไป พวกเขามักกลัวความล้มเหลวของตัวเอง และกังวลว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างหากก้าวพลาด หากมองลึกลงไปแล้ว พวกเขาแค่กังวลในขีดจำกัดของตัวเอง (โดยไม่รู้ตัว) กลัวการถูกดูหมิ่น และขาดความไว้ใจในตัวผู้อื่นเกี่ยวกับเรื่องที่พวกเขาคาดหวังให้ทำ พวกจอมบงการมักจะเชื่อว่าไม่มีใครเก่งเกินตนเอง
ซึ่งในยุคที่สังคมมีกฎเกณฑ์มากมาย ให้เราคอยปฏิบัติตามอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยที่บางอย่างเราก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม แม้ว่าไม่ค่อยจะเข้าใจเหตุผลสักเท่าไร พวกจอมบงการจึงมักอาศัยช่องโหว่ดังกล่าว เข้ามาสวมบทผู้ชี้นำสังคม ทั้งๆ ที่พวกเขาเองก็มักจะไม่ได้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมสักเท่าไร ทั้งในแง่คุณวุฒิและวุฒิภาวะทางอารมณ์
โดยเนื้อแท้แล้ว พวกจอมบงการจะขาดความไว้ใจผู้อื่น ชอบวิพากษ์วิจารณ์ ชอบข่มผู้อื่น และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นคนบ้าอำนาจ ซึ่งทำให้พวกเขาเชื่ออยู่ลึกๆว่า ตนเองมีสิทธิในการครอบครองสิ่งต่างๆ มากกว่าผู้อื่น และไม่จำเป็นต้องเคารพใคร หากคุณสำรวจตัวเองแล้วพบว่า มีบางอย่างเข้าข่ายบงการเก่ง เรามาดูวิธีแก้กันนะคะ
วิธีแก้ : เอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง ลองนึกถึงเสียงส่วนมากเป็นหลัก หรือไม่ก็ตกลงกันว่าคราวนี้ฉันตามใจเธอแล้ว คราวหน้าเธอต้องตามใจฉันบ้างนะ ข้อตกลงแบบนี้ดูจะแฟร์กับทั้งสองฝ่าย และฝึกทักษะการฟังอย่างตั้งใจ ฟังให้มากขึ้น
2. คุณเป็นคนชอบตัดสินผู้อื่น
คุณชอบวิพากษ์วิจารณ์ ตัดสินใจเก่งกับเรื่องของคนอื่น มักใช้ชีวิตด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุและผล ยกตัวอย่างเช่น บอกว่าที่คนนั้นทำแบบนั้นเพราะเป็นคนอย่างนี้ หรือ แค่บางคนทำอะไรไม่ถูกใจเราหรือทำผิดพลาดแค่นิดนึง ก็ตัดสินว่าเขาเป็นคนไม่ดีบ้างละ เป็นคนไม่ได้เรื่องบ้างละ หรือไม่ก็ชอบวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของคนอื่น และคิดว่าเรื่องของตนเองดีที่สุด มักมีคำติอยู่ตลอดเวลา
และเป็นการติที่ไม่ใช่ติเพื่อก่อ แต่เป็นการติไปเรื่อยๆ เช่น เธอทำงานไม่เก่ง หาเงินได้น้อยจัง เธออ้วนแล้วนะ เธอไม่สวยเลย จริงๆ แล้วคำพวกนี้ถ้าพูดย้ำๆ ซ้ำบ่อยๆ คนฟังก็จะรู้สึกว่าฉันไม่มีค่าหรือไม่มีดีอะไรเลยหรอ เป็นการบั่นทอนจิตใจ แถมยังทำให้หมดความมั่นใจไปเรื่อยๆ
วิธีแก้ : ถ้าคุณหวังดีจริงก็ควรแนะนำด้วยการพูดด้วยเหตุผล หยุดนิสัยการติซ้ำๆ ติทุกครั้งที่เจอกัน เพราะจะทำให้คนอื่นเสียความมั่นใจ และก็ไม่ได้ทำอะไรดีขึ้นมาอีกด้วย
3. คุณเป็นคนชอบโบ้ย ไม่รู้จักขอโทษ
คุณมักโทษว่าความรู้สึกแย่ๆ ของคุณเกิดขึ้นจากอีกฝ่าย เช่น ที่ฉันรู้สึกไม่โอเคแบบนี้ก็เป็นเพราะเธอทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่คิดว่าความสุขของตัวเองนั้นสร้างได้จากตัวเราเอง คอยแต่จะโทษอีกฝ่ายโดยตลอด ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดตลอดเวลา แม้ว่าจะทำผิดอะไร ก็ไม่เคยคิดจะเอ่ยคำขอโทษใดๆ ทั้งสิ้น มัวแต่คิดว่าฉันไม่แคร์ ไม่ใช่ความผิดของฉัน จึงไม่จำเป็นที่จะขอโทษ หรือ คุณชอบโยนความผิดหรือโบ้ยเอาความผิดให้คนอื่น
ในข้อนี้เราเห็นบ่อยกับในแง่การทำงานเป็นทีม ยกตัวอย่างเช่น แพลนงานที่จะส่งให้ลูกค้าดันเกิดผิดพลาดหรือข้อมูลตกหล่น คนเหล่านี้จะไม่มองการแก้ปัญหา แต่จะมองหาว่าใครผิดหรือกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของใครคนใดคนหนึ่งที่ไม่ใช่ตนเอง… เจอแบบนี้บ่อยๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน
คนที่ชอบโทษคนอื่นคือคนมีจิตใจอ่อนแอ ขาดวินัยทางใจ ขาดพลังในการจะปรับปรุงจิตใจตัวเองให้เข้มแข็ง และยังไม่เข้าใจตัวเองแท้จริง คนที่ชอบโทษคนอื่นมากๆ มักเป็นคนที่มีความรู้สึกแบบสุดโต่ง เช่น เวลารักใครก็รักมาก ถ้าเกลียดใครก็รุนแรง ซึ่งโดยลักษณะนี้จะทำให้เขาประเมินค่าของสิ่งที่เขาได้พบ (ทั้งคนและเหตุการณ์) เกินกว่าความเป็นจริงเสมอ เช่น เวลาจะรักใครก็รู้สึกรักมากเหลือเกิน ทั้งที่เขาไม่ได้มีค่ามากมายอย่างที่ควรจะได้รับความรักมากขนาดนั้น หรือเวลาเกลียดใครก็จะเกลียดมากมายอย่างไม่สมเหตุผลเช่นกัน
สิ่งที่เป็นอันตรายมากก็คือ เวลาเรารู้สึกไม่ดี มีความทุกข์ และโทษคนอื่น เรามักแสดงกิริยาไม่พอใจ โกรธ อาฆาต ก้าวร้าว โหดร้าย ดูถูก ฯลฯ คนอื่นได้อย่างคาดไม่ถึง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เรารู้สึกในทางลบหรือไม่ดีที่เกิดจากตัวเราเองมากกว่าจากความผิดของคนอื่น ที่เราชอบโทษเขา
วิธีแก้ : หยุดโทษคนอื่น หันกลับไปสำรวจตัวเองก่อนว่าความสุขหรือทุกข์ที่เราเป็นนั้นเป็นเพราะคนอื่นหรือที่ตัวเรา จริงๆ แล้วความสุขหรือทุกข์นั้นขึ้นอยู่กับตัวเรา ความคิดของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร เมื่อรู้ตัวว่าผิดก็ต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง ไม่ต้องตีโพยตีพายโทษคนอื่น ผิดก็คือผิด ลดทิฐิมองตามความจริงและควรรู้จักปรับจิตให้อยู่อย่างสมดุลและเป็นทางสายกลาง เราจะได้สัมผัสความเงียบสงบภายในตัวเรา (Inner Silence) ซึ่งจะสามารถสื่อสารให้เราทราบได้ว่าชีวิตเราต้องการอะไรจริงๆ บ้าง
4. คุณเป็นคนเจ้าอารมณ์
คุณเป็นพวกเจ้าอารมณ์ จอมเหวี่ยง จอมวีน ควบคุมอารมณ์และคำพูดของตนเองไม่ได้ พออะไรไม่ถูกใจนิดนึงก็อารมณ์ร้อน หงุดหงิด บ่น หรือหากหนักขึ้นอาจจะถึงขั้นเป็นคำพูดที่หยาบคาย หรือการลงไม้ลงมือก็เป็นได้
คนเจ้าอารมณ์ เป็นคนที่มีความรู้สึกไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ทั้งสิ่งเร้าที่เกิดในใจตนเอง หรือสิ่งเร้าที่มาจากภายนอก คนเจ้าอารมณ์พบได้ทั่วไป ทั้งชายและหญิง โดยหญิงจะพบบ่อยกว่า แต่จะรุนแรงน้อยกว่าชาย นอกจากนั้นยังพบได้ทั้งในเด็กเล็ก เด็กโต วัยรุ่น หนุ่มสาว และคนชรา โดยการแสดงอารมณ์ก็จะแตกต่างกันไปตามวัยและวัฒนธรรม
- เด็กเล็ก ๆ อาจแสดงออกในรูปของเด็กเลี้ยงยาก ขี้แย ซึมเฉย หรือดิ้นรนอาละวาด เมื่อถูกขัดใจ
- เด็กโตจะแสดงออกในรูปการรังแกเพื่อน รังแกสัตว์ ขี้แง ไม่กล้าสู้ วัยรุ่นจะมีอาการคล้ายกันแต่จะรุนแรงกว่า และจะพบปัญหาการใช้สุรา การใช้สารเสพติด การติดเกมส์คอมพิวเตอร์ การหมกมุ่นทางเพศ เป็นต้น
- ส่วนผู้สูงอายุอาจแสดงออกในรูปของพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับวัย หงุดหงิดง่าย ขี้บ่น หรือแสดงพฤติกรรมที่แสดงถึงการเรียกร้องความสนใจ เป็นต้น
ความรุนแรงของความแปรปรวนทางอารมรณ์ มีตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงมาก โดยบุคคลจะมีสติรู้ในความแปรปรวนที่เกิดขึ้นกับตน ไม่อยากจะเป็น แต่ฝืนความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ยาก ส่วนผู้มีความแปรปรวนทางอารมณ์รุนแรง บุคคลจะขาดสติที่จะรับรู้ความแปรปรวนที่เกิดขึ้นกับตน ควบคุมตนเองไม่ได้ มีพฤติกรรมตามอารมณ์ขณะนั้นอย่างเต็มที่จนเกิดผลร้ายต่อตนเองและผู้อื่น
วิธีแก้ : อารมณ์หงุดหงิดบางครั้งสาเหตุมาจากมีภาวะเครียด หากิจกรรมผ่อนคลายตนเอง ผ่อนคลายความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ทำในสิ่งที่ชอบ เช่นกิจกรรมหรืองานอดิเรกต่างๆ หาใครสักคนที่คุณแคร์และไว้ใจเพื่อระบายความรู้สึกในปัจจุบันก็มีนักจิตบำบัดมากมายที่พร้อมจะช่วยรับฟังปัญหาของคุณ
และเมื่อคุณได้ระบายออกมาจนสบายใจแล้ว ก็จะช่วยทำให้อารมณ์ที่ขุ่นมัวในใจของคุณดีขึ้น นิสัยขี้หงุดหงิดของคุณก็จะหมดไป หากทุกวิธีที่แนะนำมาข้างต้นไม่สามารถทำให้คุณหายหงุดหงิดได้ วิธีสุดท้ายก็คือการไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะบางทีอารมณ์หงุดหงิดเหล่านี้ก็อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพที่คุณไม่รู้ตัวก็ได้
5. คุณเป็นคนชอบนินทา พูดจาเสียดสี
คุณมักจะสนุกกับการได้เม้าท์เรื่องของชาวบ้าน ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ ขอให้ได้พูดไว้ก่อน โดยเฉพาะเรื่องคาว ๆ เรื่องความผิดพลาด เรื่องไม่ดีของผู้อื่น หรือแม้กระทั่งอาจจะเป็นเรื่องที่ดี แต่เอาไปพูดในลักษณะทำให้ผู้อื่นเสียหาย เติมเรื่องเติมราวเข้าไปให้สนุกปาก เข้าทำนองเรื่องคนอื่นรู้ดีไปหมด แต่เรื่องของตัวเองกลับไม่ค่อยรู้ หรือพยายามปกปิดไว้ โดยใช้การนินทาคนอื่นกลบเกลื่อนเข้าไว้ คนพวกนี้มักจะดึงดูดคนประเภทเดียวกันเข้ามาโดยอัตโนมัติ
การนินทา หรือ การกล่าวถึงผู้อื่นในทางที่ไม่ดีนั้น จัดเป็นกลไกการป้องกันทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งช่วยปกป้องจิตใจให้หลุดพ้นจากความรู้สึกมีปมด้อย หากนินทาอย่างสร้างสรรค์ก็จะช่วยปลดปล่อยความรู้สึกคับข้องใจได้ แต่หากนินทาเพื่อทำร้ายคนอื่นก็ดูเหมือนจะมีปัญาหาทางสุขภาพจิตหน่อยๆ ตามหลักจิตวิทยาให้เหตุผลของคนขี้นินทาไว้ ดังนี้
- เป็นคนที่มีปมด้อย รู้สึกด้อยค่า การนินทาว่ากล่าวผู้อื่นในทางที่ไม่ดีเป็นการชดเชยความรู้สึกแย่ๆ ที่มีต่อตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าคนที่กำลังกล่าวถึง
- มีความอิจฉาอยู่ภายใน เห็นคนอื่นดีกว่าไม่ได้ จะต้องหาเรื่องมานินทาเขาในทางที่เสียๆ หายๆ เพื่อทำให้รู้สึกว่าตนเองดีกว่าเขา
- เป็นพวกที่ชอบเรียกร้องความสนใจ เพราะลึกๆ นั้นเป็นคนที่ขาดความมั่นใจ การนินทาเป็นเครื่องมือที่จะดึงดูดให้คนอื่นหันมาสนใจ แต่จะสนใจได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว
- เป็นการปลดปล่อยความโกรธหรือความทุกข์ที่มีอยู่ภายในจิตใจ บางคนไม่เคยรู้เท่าทันอารมณ์ภายใน ไม่มีทักษะในการจัดการกับอารมณ์ที่เป็นลบ จึงมักเลือกวิธีการจัดการด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด คือการพูดระบายออกมา หากจะระบายเรื่องความทุกข์ใจของตัวเองก็กลัวคนอื่นจะตำหนิ ยิ่งจะทำให้รู้สึกด้อยค่ามากขึ้น กระนั้นการพูดระบายในเรื่องของคนอื่นจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
วิธีแก้ : การฝึกตัวเองเพื่อไม่ให้กล่าววิพากษ์วิจารณ์จนถึงนินทาผู้อื่น ล้วนต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก…เพราะในบางครั้งอารมณ์ความสนุกของเรามักจะทำให้พูดวิจารณ์ถึงบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในวงสนทนาด้วย…ซึ่งเป็นการไม่ยุติธรรมเลยกับบุคคลที่ถูกกล่าวถึงและที่สำคัญหากมีเพื่อนที่ฟังอยู่หลายคนเค้าก็รู้สึกว่า เราเป็นคนที่ไม่น่าคบเอาเสียเลย ความเป็นจริง ก็คือ ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกนินทาลับหลังไปได้
สิ่งที่ทำได้ ก็คือ ตั้งใจว่าต่อไปนี้ จะไม่วิพากษ์วิจารณ์ นินทา ว่าร้ายผู้อื่น หรือสิ่งใดๆเป็นอันขาด และเมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างว่า เป็นคนที่ไม่นินทาใครลับหลัง…ซึ่งทำให้ทุกคนต่างก็ชื่นชอบและนับถือมากที่สุด
6. คุณเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย คิดลบ
คุณมองว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องเศร้า สร้างความซึมเศร้าให้กับตัวเอง และพยายามใส่พลังงานลบให้กับคนรอบข้าง รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีความสุข หรือมีความคิดติดลบตลอดเวลา ไม่ว่าใครเขาทำดีให้หรือใครทำความดีอะไร ก็จะมีความคิดที่ติดลบใส่ ยกตัวอย่างเช่น เวลาเพื่อนเอาขนมมา ปากก็รับยิ้มขอบคุณ แต่ในใจพูดว่า ของเหลือหรือเปล่า หรือ พอมีคนไปเที่ยวและซื้อของฝากมาให้ ก็คิดว่าของถูก ดูไม่อร่อยเลย เป็นต้น
การมองโลกในแง่ร้ายสามารถเป็นโรคติดต่อได้ ดังนั้นการอยู่ใกล้คนประเภทนี้อาจทำให้เราถูกดึงดูดออกจากโลกอันสวยงามเข้าไปสู่โลกแห่งความมืดมนของพวกเขาได้เรามักจะได้ยินคำพูด คำติ คำวิจารณ์ ในแง่มุมที่ไม่ดีจากคนกลุ่มนี้เสมอ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะมีมุมที่ดีแค่ไหน แต่คนเหล่านี้จะไม่พูดถึงโดยเด็ดขาด หากมีปัญหามาปรึกษาเรา แล้วหากเราเสนอความช่วยเหลือและแนวทางแก้ไขให้ สุดท้ายพวกเขาจะไม่ต้องการแก้ไขอะไรเลย มีแต่จะบ่น ๆ และบ่น จนคนรอบข้างต้องเดินหนี หากอยู่ใกล้คนประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ไหน ๆ จะทำให้เราเกิดความเครียดและมีโอกาสเป็นโรคประสาทเข้าสักวันอย่างแน่นอน เนื่องจากจะหาคำพูดดี ๆ ความคิดดี ๆ หรือความจรรโลงใจใด ๆ จากคนเหล่านี้ไม่มีเลย
วิธีแก้ : ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าหากคนเราจะแอบคิดลบ หรือเกิดการมองโลกในแง่ร้ายบ้าง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องที่หลายคนต้องเจอ อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจไม่มากก็น้อย แต่ยังไงก็ตาม ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองรู้สึกอคติกับสิ่งรอบตัวจนติดเป็นนิสัย วิธีที่ทำให้เราเลิกคิดลบ
- เสพสื่อที่ดี ในยุคที่เต็มไปด้วยความคล่องตัวทางเทคโนโลยี เราจะเข้าถึงสื่อต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเลือกรับสารในเชิงสร้างสรรค์และต่อยอดให้กับอนาคตได้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นต่อการสร้างความคิดแง่บวก จงหยุดฟังเรื่องแย่ๆ หรือสิ่งที่ทำให้รู้สึกคิดลบขึ้นมาจะดีกว่า
- ออกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ ใช่ว่าในทุกๆสังคมที่เรายืนอยู่จะเต็มไปด้วยสิ่งที่ให้พลังด้านบวกเสมอไป เพราะบางทีเราอาจต้องเจอกับสิ่งที่ทำให้รู้สึกแย่จากความคิด และการกระทำของคนรอบข้างก็เป็นได้ เช่น การอยู่ท่ามกลางคนที่คอยใส่สีตีไข่คนอื่น และคนประเภทที่มักไม่เคยมองว่าอะไรในชีวิตนั้นดีเลย ซึ่งเราสามารถเลือกเดินออกจากสิ่งที่สร้างมลพิษทางความรู้สึกพวกนี้ได้
- การเลิกมองโลกแบบสุดโต่ง ขาวเกินไปหรือดำเกินไป อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยให้คุณเอาชนะความคิดแบบลบๆ ได้ เนื่องจากการมองโลกอย่างเป็นกลาง จะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่างๆ มากขึ้น ว่ามีเหตุก็ย่อมมีผล เพราะเป็นเช่นนี้ จึงเกิดสิ่งนี้ หลังจากนั้นความคิดร้ายๆ ที่มีอยู่ในใจก็จะค่อยๆ หายไปนั่นเอง
- รู้ทันความคิดที่ไม่ส่งผลดี การรู้ให้ทันตัวเอง หรือรู้ตัวว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไร ถือเป็นการฝึกใช้สติและช่วยให้เกิดปัญญาที่ดี เราอาจไม่จำเป็นต้องปฏิเสธอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะบางสิ่งบางอย่างในชีวิต เราก็คงไม่สามารถที่จะควบคุมมันได้ทั้งหมด แค่ยับยั้งชั่งใจไม่ให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอ
- ฝึกการมีเมตตา เราอาจเริ่มต้นได้จากการมีเมตตาต่อตัวเอง ให้อภัยตัวเองเมื่อทำผิดพลาด เข้าใจตัวเองและเข้าใจในสิ่งที่กำลังเป็นไป หลังจากนั้นค่อยๆ ก้าวไปมีเมตตาต่อผู้อื่น โดยเฉพาะกับสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ซึ่งจะช่วยให้จิตใจอ่อนโยนและมองโลกในแง่ดีขึ้นได้
- มองคนที่ประสบความสำเร็จด้วยการชื่นชมยินดี ต้องเป็นการชื่นชมยินดีที่เกิดจากใจจริงๆ เพราะถ้าหากเราแสดง แต่จิตใจไม่ได้รู้สึกแบบนั้น อาจยิ่งทำให้เราคิดลบและคิดร้ายต่อคนรอบข้างหนักมากขึ้นกว่าเดิม และยิ่งไปกว่านั้น อาจทำให้เราไม่เกิดการพัฒนา เนื่องจากมัวแต่จมอยู่กับความอิจฉาริษยาด้วย
- หัดขอบคุณเรื่องเล็กๆ ที่ ทำให้เรามีความสุข แม้จะดูโลกสวยเกินไป แต่เชื่อเถอะว่าคุณจะรู้สึกดี และเปลี่ยนแปลงความคิดตัวเองไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
7. คุณเป็นคนโกหกเป็นประจำ
บางครั้งคนเราอาจจะโกหกได้ คนเราเฉลี่ยแล้วโกหก 3 ครั้งใน 10 นาที แน่นอนว่าการโกหกบางครั้งก็เพื่อความสบายใจของอีกฝ่าย แต่อย่างไรก็ตาม การโกหกก็คือการโกหก การโกหกในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งคราว ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่การโกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือ มโน แต่งเรื่องราวจนเกินเลย สร้างความทุกข์ทรมานในการดำเนินชีวิตของคุณเองเพราะคุณได้ทำลายความเชื่อใจของคนรอบข้าง
การโกหกจนหยุดไม่ได้สามารถอธิบายอย่างกว้างๆ ได้ว่า คือการโกหกอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย และยกระดับการโกหกขึ้นไปเรื่อยๆ โดยคำโกหกเหล่านี้อาจมีหน้าที่แตกต่างกันไป บางครั้งอาจเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตัวตนให้ดูดีหรือดูน่าเห็นใจ แต่บางครั้งก็ไม่มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน โดยลักษณะที่พบกันได้ทั่วไป ได้แก่
- การโกหกโดยปราศจากเหตุผลหรือประโยชน์ใดๆ ถ้าคุณเคยสังเกตเห็นว่าเพื่อนของคุณโกหกเพียงเพราะอยากโกหก นี่ก็ถือเป็นลักษณะที่พบกันได้บ่อยของโรคหลอกตัวเอง และเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการโกหกนั้นกลายเป็นนิสัย หรือเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นแบบทันที
- การโกหกเต็มไปด้วยรายละเอียดอันซับซ้อน สับสน หรือเกินจริง ถึงแม้บางเรื่องราวจะดูเกินกว่าจะเชื่อได้ แต่สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะหลอกตัวเอง พวกเขาก็จะมักพยายามบอกเล่าเรื่องราวในแบบที่น่าเชื่อถือที่สุด
- เชื่อ (หรือดูเหมือนว่าจะเชื่อ) ในคำโกหกของตัวเองว่าเป็นความจริง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเพราะผู้ประสบกับภาวะโรคหลอกตัวเอง สามารถสร้างคำโกหกขึ้นมาบ่อยครั้งในแบบที่ไม่ต้องพยายาม พวกเขาอาจจำไม่ได้เสมอไปว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องไหนที่ตัวเอง มโน ขึ้นมา
- คำโกหกอาจทำให้คนพูดดูเหมือนเป็นฮีโร่ หรืออาจตกเป็นเหยื่อก็ได้ คนที่เป็นโรคหลอกตัวเองมักใช้คำโกหกเพื่อให้ได้รับความเห็นใจหรือความชื่นชม หากคุณสังเกตเห็นคนที่โกหกบ่อยครั้งเกี่ยวกับสุขภาพ ความมั่งคั่งร่ำรวย หรือหน้าที่การงานของตนเอง นี่อาจเป็นสัญญาณว่าพวกเขาเป็นโรคหลอกตัวเอง
ในบางกรณี การโกหกเป็นอาการผิดปกติที่เรียกว่า Pseudologia Fantastica หรือภาวะการโกหกที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาการหลักๆ ของผู้ที่มีภาวะนี้ก็คือความต้องการที่จะโกหกซ้ำแล้วซ้ำอีกในแบบที่ห้ามตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าจะในเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ โดยปราศจากเหตุผลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม จิตแพทย์พบว่าส่วนใหญ่แล้วการหลอกตัวเองเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพทางจิตอย่างอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality disorders) ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีทำให้เกิดการโกหกจนเป็นนิสัยได้
อย่างเช่น บาดแผลทางใจในวัยเด็กอาจทำให้ผู้ที่เผชิญกับภาวะนี้ใช้การโกหกเพื่อสร้างตัวตนที่สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเลวร้าย จนกลายเป็นนิสัยที่สืบเนื่องมาจนเป็นผู้ใหญ่ และนักวิทยาศาสตร์บางคนก็เชื่อว่าความแตกต่างของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับเทสทอสเทอโรนที่สูงกว่าปกติและคอร์ติซอลที่ต่ำกว่าปกติ อาจส่งผลทำให้บางคนกลายเป็นโรคนี้ได้
วิธีแก้ : สังเกตพฤติกรรมตนเองว่าคุณโกหกบ่อยแค่ไหน เพื่ออะไร และกล้าที่จะยอมรับความจริง และขอความช่วยเหลือจากคนที่คุณไว้ใจ รับการบำบัดหรือปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการว่าเรามีความผิดปกติอย่างไร และเพื่อวางแผนในการรักษา โดยการปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อหาทางออกกับพฤติกรรมชอบโกหกนั้น เป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับคนที่มีอาการในลักษณะนี้ แต่การรักษาให้หายนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะคนที่ชอบโกหกนั้นมีอาการผิดปกติทางบุคลิกภาพ พวกเขาใช้ชีวิตโดยปฏิเสธความจริง
และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่ชอบโกหก คนที่อยู่ใกล้ชิดมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้คนที่ป่วยด้วยอาการนี้หาย ด้วยการแสดงความเข้าอกเข้าใจและพาไปปรึกษาจิตแพทย์อย่างจริงจัง
แหล่งข้อมูล :
- ศูนย์บำบัดยาเสพติด เดอะ ดอว์น เชียงใหม่
- https://www.sanook.com/campus/1404704/
- https://www.innnews.co.th/lifestyle/news_170879/
- THE STANDARD PODCAST
- THE STANDARD PODCAST
- ไทยแลนด์ เยลโล่เพจเจส