ปอดอักเสบ มีอาการอย่างไร? และป้องกันได้อย่างไร?

กระแสข่าวมาแรงตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้นโรคปอดอักเสบ วันนี้พี่เนิสจะพาไปรู้จักกันค่ะ

ปอดอักเสบทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำงานได้ไม่ดี ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจอึดอัด หายใจลำบาก มีระดับความรุนแรงตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นหากมีอาการผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็กและรักษาตามขั้นตอน จะช่วยบรรเทาอาการให้หายได้ในเร็ววัน

มารู้จักปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบหรือโรคปอดบวมเป็นการอักเสบของเนื้อปอดและหลอดลม โดยเกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลักคือ

1) การติดเชื้อ ได้แก่

-เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อนิวโมค็อกคัส (Pneumococcus)

-เชื้อไวรัส ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสซาร์ส (SARS Virus)

-อื่น ๆ ได้แก่ เชื้อรา พยาธิ ฯลฯ

2) การไม่ติดเชื้อ ได้แก่

-สำลักเศษอาหารเข้าไปในปอด

-หายใจเอาควัน ฝุ่น เข้าไปในร่างกายในปริมาณมาก

3) การแพ้ภูมิตัวเอง ภูมิต้านทานต่ำ ได้แก่

-ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี (SLE)

-ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกแฝด เด็กขาดสารอาหาร

-ผู้สูงอายุ

-ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง

-ผู้ป่วยเอดส์

-ผู้ป่วยเบาหวาน

-ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์นาน ๆ

ฯลฯ

ในบางกรณีอาจเกิดจากโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ หัด อีสุกอีใส ไอกรน เป็นต้น

อาการปอดอักเสบสามารถสังเกตได้ดังนี้

1.ไอ

2.มีเสมหะ

3.มีไข้สูง อาจตัวร้อนตลอดเวลา หนาวสั่นมาก

4.หายใจลำบาก หายใจหอบเร็ว

5.อาจเจ็บแปล๊บหน้าอกเวลาหายใจเข้า

6.อาจไอแรงร้าวไปที่หัวไหล่หรือสีข้าง

ระยะเวลาในการดำเนินโรค

ขึ้นกับชนิดของเชื้อ อาจสั้นเพียง 1 – 3 วันหรือนานเป็นสัปดาห์ หลังจากเริ่มป่วยเป็นไข้หวัด ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีอาการไอ มีเสมหะ หายใจเหนื่อยหอบ เจ็บแน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และมีไข้สูง เป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา แต่อาจมีโรคปอดอักเสบร่วมด้วย โดยอาการของโรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุอาจมีอาการอื่นที่ไม่จำเพาะ ที่พบได้บ่อย คือ มีอาการซึมลงหรือสับสน และไม่จำเป็นต้องมีไข้หรืออาการไอมาก่อน

การตรวจวินิจฉัยปอดอักเสบ

การตรวจวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยจะใช้เครื่องตรวจฟังเสียงปอด หลังจากนั้นหากต้องทำการตรวจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ตรวจเสมหะ RP33 (Respiratory Pathogen Panel 33) เป็นต้น ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

การรักษาปอดอักเสบ

การรักษาโรคปอดอักเสบแพทย์จะทำการพิจารณารักษาตามอาการและสาเหตุเป็นหลัก หากเป็นปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ แพทย์จะให้รับประทานยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อที่พบและนัดติดตามอาการเป็นระยะ หากอาการไม่ดีขึ้นจำเป็นจะต้องตรวจหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ

นอกจากนี้หากเป็นผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เหนื่อยหอบรุนแรง เจ็บหน้าอก และรับประทานอาหารลำบากอาจต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.bangkokhospital.com/content/pneumonia-do-not-let-severe

Related Articles