เปิดใจอาชีพ Flight Nurse งานพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาล แต่อยู่กลางอากาศ!!
สำหรับน้อง ๆ ที่ฝันอยากเป็น Flight Nurse วันนี้พี่เนิร์สมีแขกรับเชิญคนพิเศษ พยาบาลพี่โปเต้ ที่จะมาเล่าประสบการณ์ดี ๆ และส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาพยาบาลและพยาบาลกันค่ะ
โปเต้-เรืออากาศโท ปรมะ สุวรรณดี ตำแหน่งพยาบาลลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ ศูนย์ลำเลียงทางอากาศสายแพทย์ สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ ประสบการณ์ลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ 8 ปี และพยาบาลห้องฉุกเฉิน (ER) 2 ปี
ทำไมถึงได้เป็น Flight Nurse
Flight Nurse คือ พยาบาลเวชศาสตร์การบิน มีหน้าที่ลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ ผมมีความตั้งใจอยากจะมาเป็น Flight Nurse ซึ่งในรุ่นของผมที่สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ มีทั้งหมด 20 คน และได้รับการคัดเลือกจาก 5 อันแรกของรุ่นเข้ามาเป็น Flight Nurse
Flight Nurse กับงานพยาบาลทั่วไป ทำงานแตกต่างกันอย่างไร?
Flight Nurse ต้องมีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง มีความรู้รอบด้านครอบคลุมทุกโรคของผู้ป่วยที่เราจะสามารถดูแลได้ เพราะการขึ้นไปลำเลียงผู้ป่วยแต่ละครั้ง เราไม่สามารถเลือกดูแลผู้ป่วยได้ บางครั้งผู้ป่วยมีอาการกำเริบหรืออาละวาดขึ้นมาก็ต้องจัดการให้ได้ ด้วยที่เครื่องบินมีพื้นที่จำกัดและมีข้อจำกัดหลายอย่างเลยจะทำบางอย่างได้ไม่ค่อยสะดวก เช่น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รถ Ambulance ของภาคพื้นดิน จะสามารถแวะไปโรงพยาบาลที่ไหนก็ได้ในพื้นที่ใกล้เคียง แต่การลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยาน ไม่สามารถแวะจอดกลางอากาศได้ และไม่มีใครเอาอุปกรณ์ทางการแพทย์/เวชภัณฑ์ขึ้นมาให้เราได้ ฉะนั้นเราจะต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อนนำขึ้นอากาศยาน
ทักษะหรือประสบการณ์การทำงานที่จำเป็นต่อการเป็น Flight Nurse
1) ต้องมีความรู้พื้นฐานทางการพยาบาลทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นสูตินรีเวชกรรม, อายุรกรรม, ศัลยกรรม, กุมารเวชกรรม เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยขณะปฏิบัติงานบนเครื่องบินได้
2) มีทักษะการใช้อุปกรณ์เวชศาสตร์การบิน และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเฉพาะทาง ระยะเวลาทั้งหมด 4 เดือน ทั้งสรีรวิทยาการบิน การใช้อากาศยาน การดำรงชีพในป่าและทะเล การลำเลียงผู้บาดเจ็บ เป็นต้น
3) มีทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะไม่รู้ว่าจะเจอผู้ป่วยโรคไหนบนเครื่องบิน ซึ่งจะมีทั้งผู้ป่วยทางกายและผู้ป่วยทางจิต
4) มีความสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอาจจะเกิดปัญหาใดขึ้นบ้าง และหาวิธีแก้ไขไว้ล่วงหน้า หรือเตรียมแผนการป้องกันเผื่อเหตุฉุกเฉิน
เหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำของการทำงาน Flight Nurse
ปฏิบัติการลำเลียงผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ปี 2554 เพราะเป็นการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่เยอะที่สุด ช่วงนั้นผมเพิ่งจะเรียนจบพยาบาลเวชศาสตร์การบินมาใหม่ ๆ ในหนึ่งเดือนนั้น ต้องทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศจากกรุงเทพมหานครไปยังโรงพยาบาลตามจังหวัดต่าง ๆ มากกว่า 200 เคส
ฝากถึงน้อง ๆ ที่ฝันอยากเป็น Flight Nurse
อย่างแรกต้องมีใจรักในการทำงาน Flight Nurse จะต้องไม่เกี่ยงงาน เพราะเป็นงานที่ต้องพร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง แม้ว่างาน Flight Nurse จะได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวที่ต่าง ๆ แต่ก่อนที่เราจะมาถึงจุดจุดนี้ได้ ต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก รวมทั้งมีความรู้และความสามารถหลาย ๆ ด้านในการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยทางอากาศ และที่สำคัญคือเราต้องเตรียมตนเองให้พร้อมอยู่เสมอ และไม่ทิ้งโอกาส ถ้ามีโอกาสอะไรมาให้รับไว้ก่อน
Responses