การประเมินแผลกดทับ

การประเมินแผลกดทับ

ทำความรู้จักแผลกดทับ

แผลกดทับ (Pressure Ulcers) หมายถึง การบาดเจ็บของผิวหนังและ/หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง โดยส่วนมากอยู่ที่บริเวณเหนือปุ่มกระดูก ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกด (Pressure) หรือแรงกดร่วมกับแรงเฉือน (Shear) ปัจจัยภายในที่สัมพันธ์กับการเกิดแผลกดทับ มีดังนี้

1) สูงอายุ (Aging) ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ เซลล์ไขมันใต้ผิวหนัง ต่อมเหงื่อ หลอดเลือด มีจำนวนลดลง ส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ผิวหนังบางลงและมีความยืดหยุ่นลดลง ทำให้มีโอกาสได้รับบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น และกระบวนการซ่อมแซมผิวหนังใช้เวลานานขึ้น

2) การไม่เคลื่อนไหว (Immobility) มักเกิดในผู้ป่วยที่มีระดับความรู้สึกตัวบกพร่อง อ่อนแรง อัมพาต เช่น ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง บาดเจ็บสมอง หลอดเลือดสมองตีบ/แตก เป็นต้น ทำให้จำกัดความสามารถในการเคลื่อนย้ายตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ

3) สูญเสียการรับรู้ความรู้สึก (Impaired sensation) เช่น ความรู้สึกสัมผัส เจ็บ

4) ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) ได้แก่

  • ระดับอัลบูมินต่ำ (Hypoalbuminemia) และระดับโปรตีนในเลือดต่ำ (Hypoproteinemia) มีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับการเกิดแผลกดทับและแผลหายช้า
  • การได้รับสารอาหารหรือเกลือแร่ไม่เพียงพอ เช่น โปรตีน สังกะสี แคลเซียม แมกนีเซียม
  • การขาดวิตามิน เช่น วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี
  • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
  • ระดับไขมันในเลือดต่ำ (Hypocholesterolemia)
  • น้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (Cachexia)

5) ภาวะเลือดจาง (Anemia) ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงบริเวณผิวหนังลดลง

6) การสูบบุหรี่ (Smoking) Carbon monoxide และ Nicotinic acid ในบุหรี่ เป็นสารที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้เลือดมีความหนืดเพิ่มขึ้น ลดการไหลเวียนเลือดบริเวณแผล ทำให้แผลขาดเลือด

7) อุณหภูมิร่างกายสูง (High body temperature) เพิ่มเมตาบอลิซึมความต้องการออกซิเจนของเซลล์

8) ผิวหนังเปียกชื้นและกลั้นอุจจาระ/ปัสสาวะไม่ได้ (Moisture and Incontinence) ความชื้นที่มากเกินไปทำให้เนื้อเยื่อชั้นลึกของผิวหนังอ่อนแอ

9) ยา (Medication) เช่น ยาระงับประสาท ยาแก้อักเสบ ยาสเตียรอยด์ ยาชา เป็นต้น

การประเมินแผลกดทับ

การประเมินแผลกดทับ (Assessment of pressure ulcers)

การประเมินแผลกดทับ ควรอธิบายระดับความรุนแรง ลักษณะแผลกดทับ และระบุตำแหน่งของแผล สำหรับระดับความรุนแรงของแผลกดทับ (Staging of pressure ulcers) นิยมใช้ตาม National Pressure Ulcer Advisory Panel (NPUAP)

แผลกดทับระดับความรุนแรงต่าง ๆ

ระดับ 1 หมายถึง ผิวหนังไม่เป็นแผลแต่มีรอยแดงช้ำ มักอยู่บริเวณปุ่มกระดูก เมื่อกดบริเวณนี้ผิวหนังยังคงแดงช้ำเหมือนเดิม ไม่ซีด สีผิวอาจแตกต่างจากบริเวณข้างเคียง อาจเจ็บ แข็งหรือนุ่ม อุ่นหรือเย็นกว่าบริเวณข้างเคียง หากผิวสีเข้มอาจเห็นลักษณะดังกล่าวได้ยาก จึงเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ

ระดับ 2 หมายถึง สูญเสียหนังแท้บางส่วน เป็นแผลเปิดตื้น ๆ เห็นก้นแผลเป็นสีชมพูไม่มีเนื้อตายปกคลุม หรือเป็นถุงน้ำพอง (Serum-filled blister) ที่แตกแล้วหรือยังไม่แตก แต่กรณีผิวหนังฉีกขาด (Tear) แผลไหม้ (Burn) ผื่นผิวหนังอักเสบที่ฝีเย็บ (Perineal dermatitis) ผิวหนังเปื่อยยุ่ย (Maceration) หรือรอยถลอก (Excoriation) ไม่ถือเป็นแผลกดทับระดับนี้

ระดับ 3 หมายถึง สูญเสียผิวหนังทั้งหมด เห็นชั้นไขมันแต่ยังไม่เห็นกล้ามเนื้อ เอ็น หรือกระดูก อาจมีเนื้อตายปกคลุมแต่ยังมองเห็นความลึกของเนื้อเยื่อที่สูญหาย แผลระดับนี้อาจเซาะเป็นโพรงใต้ผิวหนังความลึกของแผลกดทับระดับ 3 แตกต่างกันขึ้นกับบริเวณ บริเวณที่ไม่มีเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังแผลจะตื้น ส่วนบริเวณที่มีไขมันใต้ผิวหนังหนา แผลจะลึกทำให้ไม่เห็นหรือไม่สามารถคลำถึงกระดูกหรือเอ็นกล้ามเนื้อ

ระดับ 4 หมายถึง สูญเสียผิวหนังทั้งหมด เห็นกระดูก เอ็น กล้ามเนื้อ อาจมีเนื้อตายปรากฏที่แผลบางส่วน บ่อยครั้งพบว่าแผลเป็นโพรงลึกถึงกระดูก เอ็น กล้ามเนื้อ หรือเยื่อหุ้มข้อ ทำให้มีโอกาสเกิดกระดูกอักเสบเป็นหนอง

ระบุระดับไม่ได้ (Unstageable stage) หมายถึง สูญเสียผิวหนังทั้งหมด แผลถูกปกคลุมด้วยเนื้อตายหรือ Eschar บดบังความลึกของแผล ถ้าไม่ตัดเนื้อตายออกจนเห็นก้นแผลจะไม่สามารถประเมินความลึกที่แท้จริง และความรุนแรงของแผลได้

คาดว่าเนื้อเยื่อลึกบาดเจ็บ (Suspected deep tissue injury) หมายถึง ผิวหนังไม่เป็นแผลแต่มีสีม่วง (Purple) หรือแดงปนน้ำตาล (Maroon) หรือเป็นถุงน้ำมีเลือดภายใน (Blood-filled blister) เกิดจากเนื้อเยื่อถูกแรงกดหรือแรงเฉือน คลำได้ลักษณะแข็ง (Firm) หรือเหมือนมันบด (Mushy) หรือโคลน (Boggy) อุ่นหรือเย็นเมื่อเทียบกับบริเวณข้างเคียง

แผลกดทับเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ใช้ระยะเวลานานและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง และส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับจึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่การค้นหาและกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผิวหนัง การใช้แผ่นรองตัวและเบาะรองนั่งที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดและกระจายแรงกด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดแผลกดทับ

ที่มา : พญ.ปรัชญพร คำเมืองลือ, ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Related Articles

Responses