การผูกยึดผู้ป่วย (Restraining)

พี่น้องชาว nurse soulciety ทุกท่าน วันนี้พี่เนิร์สจะพาทุกคนมาทบทวนความรู้เกี่ยวกับการผูกยึดผู้ป่วย

การผูกยึดผู้ป่วย คือ วิธีการใดๆ ที่กระทำต่อร่างกายผู้ป่วยเพื่อกำจัดอิสระในการเคลื่อนไหว กิจกรรมทางกายหรือความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเอง ต่อผู้อื่นหรือต่อผู้ให้การดูแลรักษาโดยแบ่งออกเป็น 2 วัตถุประสงค์ คือ การผูกยึดเพื่อให้ยาหรือผ่าตัดสำหรับใช้ในระหว่างการรักษาด้วยยาหรือผ่าตัด เพื่อลดการบาดเจ็บต่อร่างกายผู้ป่วยและผู้อื่นเพื่อป้องกันการขัดขวางทางการรักษาและช่วยให้การรักษาได้ผลขึ้นและการผูกยึดเพื่อจำกัดพฤติกรรม ใช้เบื้องต้นเพื่อป้องกันผู้ป่วยทำร้ายร่างกายหรือทำร้ายผู้อื่นเนื่องจากอารมณ์หรือพฤติกรรมแปรปรวนการผูกยึดร่างกายนี้เพื่อจำกัดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์จากความก้าวร้าวทำลายหรือความรุนแรงหรือพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นผลให้ผู้ป่วยหรือผู้อื่นอยู่ในสภาวะอันตราย

การผูกยึดผู้ป่วยเป็นแนวทางการรักษาที่จำเป็นต้องปฏิบัติในโรงพยาบาลเพื่อประโยชน์
ในด้านความปลอดภัยและเพื่อประโยชน์ในด้านการรักษาการผูกยึดผู้ป่วยอาจเกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์หากทำไม่ถูกวิธี
ดังนั้นพยาบาลควรมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการผูกยึดผู้ป่วยอย่างถูกวิธี

ผู้ป่วยที่ได้รับการพิจารณาให้ถูกผูกยึด ได้แก่
1.ผู้ป่วยที่มีระดับการรับรู้บกพร่อง ได้แก่ ผู้ป่วยที่ได้รับการดมยาสลบ (Neurological Impairment due to Anesthesia), ภาวะสับสน (Confusion), ภาวะก้าวร้าวรุนแรง (Agitation), ภาวะที่ระดับความรู้สึกตัวบกพร่อง (Altered level of consciousness)
2.ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์แต่ผู้ป่วยต่อต้านไม่ให้ความร่วมมืออันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ได้แก่ ผู้ป่วยที่ดึงสายนํ้าเกลือ IV หรือ arterial lines ผู้ป่วยที่ดึงสายให้อาหารทางจมูก NG tube หรือสายให้อาหารอื่นๆผู้ป่วยดึงสายสวนปัสสาวะ (Urinary Catheter) ผู้ป่วยที่ดึงท่อช่วยหายใจ (Endotracheal tube) หรือผู้ป่วยที่ดึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆออกจากร่างกาย
3.ผู้ป่วยเด็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารและไม่ให้ความร่วมมือในการทำหัตถการการผูกยึดร่างกายผู้ป่วยไม่ครอบคลุมถึง
กรณีดังต่อไปนี้
• หัตถการปกติทางอายุรกรรม , ทันตกรรม , ศัลยกรรม หรือ หัตถการเพื่อวินิจฉัย
• ผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์ผยุงร่างกายผู้ป่วย เช่น Braces , Helmets , อุปกรณ์ทางการรักษากระดูก
• การรักษาพยาบาลเด็ก ในเวลาน้อยกว่า 30 นาที
• การจัดท่าทางศัลยกรรม
• Intravenous arm boards
• การจัดท่าทางรังสีรักษา
• บริเวณที่ต้องได้รับการรักษาทางศัลยกรรม
• Tabletop chairs
• อุปกรณ์ที่ต้องใช้เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

วิธีการผูกยึดผู้ป่วยที่เหมาะสม

Wrist & Ankle Restraints นำผ้าผูกยึดผูกเป็นเงื่อน
  • ท่าในการผูก โดยผูกข้อมือหรือแขนอยู่ระดับกลางเตียงถ้าดิ้นมากผูกยึดข้อเท้าสองข้าง
  • ท่าผูกยึดแขนข้างใดข้างหนึ่งอยู่มุมเตียงด้านศีรษะ ส่วนอีกข้างผูกด้านกลางเตียง
  • มีการเปลี่ยนท่าทุก 1-2 ชั่วโมงตามความเหมาะสม

ลักษณะปมเชือกและตำแหน่งที่ผูก
  1. ใช้ผ้าผูกยึดหุ้มรอบข้อมือ 1 รอบมาผูกปมบริเวณ ข้อมือด้านหน้าและอ้อมมาผูก 2 รอบ (ปมแน่น) บริเวณหลังข้อมือจัดวางมือผู้ป่วยควํ่าลงทั้ง 2 ข้างอีกปลายผ้ามาผูกบริเวณส่วนเหล็กที่แข็งแรงข้างเตียงโดยผูกตรงกับข้อมือหรือตํ่าลงไปทางขาของผู้ป่วย
  2. ถ้าผูกยึดขาแล้ว อีกปลายให้นำผ้าผูกยึดกับเหล็กที่แข็งแรงปลายเตียง

  1. Chest Restraint
    จัดเสื้อผ้าผู้ป่วยให้เรียบร้อย นำผ้าคาดอกคาดกับตัวผู้ป่วย ผูกชายผ้าด้านข้างทั้ง 2 ข้าง ส่วนด้านบนให้สอดไว้ใต้แขนทั้ง 2 ข้าง ผูกที่เหนือหัวเตียงยึดติดกับเตียงอย่าให้หลุด
    (ไม่ต้องผูกให้ตึงนักควรให้อิสระผู้ป่วยขยับตัวพลิกตะแคงตัวอยู่บนเตียงได้)

Mummy Restraint
การผูกยึดแบบห่อทั้งตัว

  • ปูผ้าห่อตัวเด็กบนลงเตียงพับมุมหนึ่งมุมใดของผ้าลงมาวางตัวเด็กลงกลางผ้าให้ศีรษะยื่นออกมานอกผ้าโดยให้คอและไหล่อยู่ริมผ้าที่พับมุม
  • จับแขนเด็กวางแนบลำตัวทับชายผ้าข้างหนึ่งของผ้าให้มาปิดไหล่และคลุมลงไปบนลำตัวและสอดชายผ้าให้อยู่ระหว่างแขนและใต้ลำตัวเด็กอีกข้างหนึ่ง
  • แล้วอ้อมไปสอดไว้ใต้ลำตัวด้านตรงข้ามขมวดชายผ้าส่วนปลายเข้าให้เป็นปมหรือลบขึ้นเพื่อป้องกันการดิ้นหลุด

แนวทางในการดูแลผู้ป่วยจะปรับให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยตลอดเวลาที่ผูกยึดทั้งในเรื่องการดูแลรักษา การติดตามอาการและการให้ความรู้ที่จำเป็นแก่การดูแล

ขั้นตอนการประเมินผู้ป่วยขณะผูกยึดต้องประเมินผู้ป่วยที่ได้รับการผูกยึดอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง โดยประเมิน
• ความเหมาะสมของอุปกรณ์ที่ผูกยึดรวมทั้งอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับบริเวณที่ได้รับการผูกยึด
• ท่าทางและตำแหน่งการนอนของผู้ป่วย (Posture and Position) มีความสะดวกสบายอยู่ในท่าที่ไม่สามารถถอดอุปกรณ์การผูกยึดได้ด้วยตนเอง
• การรับรู้ความรู้สึก (Consciousness)
• การหายใจ (Respiration) การไหลเวียนโลหิต (Circulation) สีผิวและอุณหภูมิของบริเวณที่ผูกยึด (Color of skin and temperature)
• การขับถ่าย
• สภาวะนํ้าในร่างกาย
• ความจำเป็นที่ต้องใช้อุปกรณ์ผูกยึดประเมินดูว่าสามารถถอดอุปกรณ์ผูกยึดได้หรือไม่

พยาบาลและเจ้าหน้าที่ในทีมให้การดูแลผู้ป่วยและการ Monitor ขณะผูกยึดดังนี้
  1. Behavioral Assessment ทุก 1-2 ชั่วโมง
  2. กรณีที่แพทย์มีคำสั่งให้ยาเพื่อลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยต้องมีการบันทึกและติดตามประเมินผลหลังการให้ยาอย่างละเอียด
  3. ประเมินสภาพผิวหนังว่ามีรอยชํ้าบวมถลอกหรือไม่และต้องพิจารณาใช้อุปกรณ์ที่นุ่ม มีการระคายเคืองน้อย เช่น ผ้ารัดที่บุนวมหมั่นคลายจุดที่ผูกมัดเป็นต้น
  4. ประเมินระบบไหลเวียน, การเคลื่อนไหวและระดับการรับรู้สัมผัสของแขนขา
  5. ดูแลให้ได้รับอาหารและนํ้าอย่างเพียงพอกับความต้องการอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมงขณะผู้ป่วยตื่น
  6. ดูแลเรื่องการขับถ่ายการทำความสะอาดหลังการขับถ่ายทุก 2 – 4 ชั่วโมง
  7. ดูแลให้ผู้ป่วยได้เคลื่อนไหวแขนขาและคลายการผูกยึดแต่ละตำแหน่งพร้อมทำ Passive & Active range of motion และให้การดูแลเพื่อป้องกันการทำร้ายตนเองโดยประเมินจากพฤติกรรมของผู้ป่วย
  8. ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับความอบอุ่นอย่างเพียงพอ
  9. ประเมินความเจ็บปวดและให้การดูแลเพื่อบรรเทาความปวด (Effective Pain Management)
  10. พยายามจัดสภาพแวดล้อมให้ผ่อนคลายอุณหภูมิแสงเสียงที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วยและสบายตามีความเป็นส่วนตัว
  11. ให้เวลากับผู้ป่วยและครอบครัวในการพูดแสดงความคิดเห็นอย่างเพียงพอและเป็นตัวแทนสื่อสารข้อมูลแก่ทีมผู้ดูแล

การให้การศึกษา
ผู้ป่วยและครอบครัวมีสิทธิ์ในการรับทราบถึงแผนการรักษาและสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการรักษา

อันประกอบไปด้วย

• ผู้ป่วยและครอบครัวจะได้รับทราบถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องผูกมัดร่างกายผู้ป่วย
• ผู้ป่วยและครอบครัวจะได้รับทราบถึงเทคนิคการช่วยแก้มัดผู้ป่วย
• ผู้ป่วยและครอบครัวรับทราบถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องได้รับการอธิบาย
• ผู้ป่วยและครอบครัวจะร่วมคิดหาแนวทางอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้วิธีการผูกมัดร่างกายอีก

การยุติการผูกมัดร่างกาย
การผูกมัดร่างกายผู้ป่วยจนทำให้การเคลื่อนไหวถูกจำกัดสามารถยุติได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
• ถ้าพฤติกรรมหรือสถานการณ์ที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยต้องถูกผูกมัดร่างกายยังคงอยู่ให้ประเมินอาการผู้ป่วยซํ้า
• แพทย์หรือพยาบาลผู้ดูแลเป็นผู้ประเมินอาการเพื่อยุติการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ไม่ต้องผูกมัดร่างกายแล้ว

แหล่งข้อมูล :
  • การพยาบาลพื้นฐานภาควิชาพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  • การพยาบาลพื้นฐานและหลักการพยาบาลสถาบันพระบรมราชชนกกระทรวงสาธารณสุข
  • นงเยาว์ แผงสวัสดิ์ และคณะ “การผูกมัดผู้ป่วย : ประเด็นสาคัญทางการพยาบาล” วารสารการศึกษาพยาบาล 2540;72-80
  • แนวทางการปฏบัติการพยาบาลทางคลินิกโดยใช้หลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อการผูกยึด และการป้องกันอาการ แทรกซ้อนจากการผูกยึด ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (Evidence Base Practice Guideline Restraint Use:Implication for the Nausea. ฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 2551)   

Related Articles

เปิดใจอาชีพ Flight Nurse งานพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาล แต่อยู่กลางอากาศ!!

สำหรับน้อง ๆ ที่ฝันอยากเป็น Flight Nurse วันนี้พี่เนิร์สมีแขกรับเชิญคนพิเศษ พยาบาลพี่โปเต้ ที่จะมาเล่าประสบการณ์ดี ๆ และส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาพยาบาลและพยาบาลกันค่ะ