โลหิตจางได้อย่างไร

โลหิตจางได้อย่างไร

เราอาจเคยได้ยินคำว่า เลือดจาง กันอยู่บ่อย ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าโลหิตจางเกิดจากอะไร? และคุณมีภาวะเสี่ยงเป็นโรคโลหิตจางหรือไม่?

วันนี้พี่เนิร์สจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับสาเหตุของภาวะโลหิตจาง พร้อมกับบอกวิธีการเช็กอาการด้วยตัวเองง่าย ๆ มาฝากทุกคนกันค่ะ

โลหิตจาง เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยกว่าปกติ เนื่องจากการสูญเสียโลหิต การทำลายเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก หรือการสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง

โลหิตจางได้อย่างไร

โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยในภาวะโลหิตจาง คือ ภาวะขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการสร้างเม็ดเลือดแดงของร่างกาย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1) ได้รับสารอาหารธาตุเหล็กไม่เพียงพอ

  • พบได้บ่อยในเด็กทารกที่รับประทานแต่นมเพียงอย่างเดียว เนื่องจากนมมีปริมาณธาตุเหล็กเพียงเล็กน้อย
  • ในผู้ใหญ่เกิดจากรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อย แหล่งอาหารเพิ่มธาตุเหล็ก ได้แก่ อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง และผักใบเขียว เป็นต้น

2) การดูดซึมธาตุเหล็กผิดปกติ อาจเกิดจากการมีกรดในกระเพาะอาหารลดลง ได้แก่

  • ผู้ที่รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออก
  • ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเอาลำไส้เล็กส่วนต้นออก
  • ผู้ที่มีการอักเสบของลำไส้เล็กส่วนต้นเรื้อรัง

3) มีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มมากขึ้นในบางภาวะ
พบได้บ่อยในผู้ที่ตั้งครรภ์อยู่ หรือมีการให้นมบุตร ซึ่งจะมีความต้องการธาตุเหล็กมากกว่าคนทั่วไปถึงสามเท่า และกลุ่มเด็กเล็กที่กำลังเจริญเติบโตก็มีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

4) ร่างกายสูญเสียธาตุเหล็กมากกว่าปกติ

  • การเสียเลือดเรื้อรัง สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ เลือดประจำเดือนออกมากและนานกว่าปกติในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
  • การเสียเลือดเฉียบพลันจำนวนมาก เช่น ผ่าตัดใหญ่ คลอดบุตร แท้งบุตร การเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น
  • เลือดออกในทางเดินอาหารจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น แผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง เลือดออกในหลอดอาหาร ริดสีดวงทวารหนัก มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
  • การเสียเลือดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น เม็ดเลือดแดงแตกและเสียเลือดในทางเดินปัสสาวะ การเสียเลือดจากระบบทางเดินหายใจ การบริจาคเลือดบ่อยครั้งกว่าที่กำหนดและไม่รับประทานยาเสริมธาตุเหล็กทดแทน เป็นต้น

Health Checklists : ภาวะโลหิตจางมีอาการอย่างไร?

  • ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ปวดศีรษะ มึนงง วิงเวียนศีรษะ
  • เป็นลมง่าย หน้ามืดบ่อย
  • เจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจลำบาก
  • สมองล้า เซื่องซึม เฉื่อยชา
  • ความจำไม่ดี หลงลืมง่าย

ผู้มีภาวะโลหิตจางเล็กน้อยอาจไม่มีอันตรายใด ๆ แต่จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ มีภูมิต้านทานต่ำ ขาดสมาธิในการทำงาน

แต่ถ้ามีภาวะโลหิตจางมาก จะทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้น ก็อาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ช็อก และเสียชีวิตได้

Related Articles

คำย่อภาษาอังกฤษ ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค

พยาบาลนอกจากดูแลสุขภาพของผู้ป่วยแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญคือ การอ่านข้อมูลที่บันทึกอยู่ในเวชระเบียน ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยที่มารับบริการตรวจและรักษาโรคในโรงพยาบาล

29 กันยายน วันหัวใจโลก

29 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันหัวใจโลก (World Heart Day) จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรโลก

ทำความรู้จัก Burn Injury แผลไหม้

แผลไหม้ หมายถึง บาดแผลที่ผิวหนังถูกทำลายด้วยความร้อน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากถูกเปลวไฟลวก ถูกของเหลวร้อนลวก กระแสไฟฟ้าแรงสูง หรือสารเคมี ส่งผลทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า หนังแท้ หรืออาจลึกลงไปถึงกระดูกได้

Responses