การบริหารจัดการยาที่มีความเสี่ยงสูง

การบริหารจัดการยาที่มีความเสี่ยงสูง (High Alert Drugs)

เนื่องด้วยรายการยาที่มีอยู่จำนวนมาก แต่ละรายการอาจมีอันตรายที่มีความรุนแรงต่างกัน การที่จะระมัดระวังป้องกันหรือจัดการให้เกิดความปลอดภัยอาจจะทำได้ยาก จึงเกิดแนวคิดเรื่องยาที่ควรให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษที่ในปัจจุบันเรารู้จักกันในเรื่องยาที่มีความเสี่ยงสูงหรือ High Alert Drugs (HAD) ซึ่งเมื่อเราจะจัดการความปลอดภัยกับผู้ป่วยในระบบยา ควรพิจารณาเป็นกลุ่มเป้าหมายแรก ๆ ของการสร้างระบบประกันความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย

ยาที่มีความเสี่ยงสูง (High Alert Drugs; HAD) หมายถึง ยาที่ก่อให้เกิดความรุนแรงแก่ผู้ป่วย ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้ และเป็นยาที่เสี่ยงต่อการเกิดความผิดพลาดในกระบวนการรักษา เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยารักษามะเร็ง เป็นต้น จึงควรมีข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับ ขั้นตอนในการสั่งยา การจ่ายยาและการบริหารยา และจำเป็นต้องเฝ้าระวังการใช้ยาเป็นพิเศษ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยานั้น

เป้าหมายในการบริหารจัดการยาที่มีความเสี่ยงสูง

  1. เพื่อป้องกันและลดอุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนทางยา (Medication errors) ที่เกิดจากยาความเสี่ยงสูง
  2. เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในการใช้ยาความเสี่ยงสูง สามารถปฏิบัติตามแนวทางในการใช้ยาความเสี่ยงสูงได้อย่างเหมาะสม
  3. เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาความเสี่ยงสูง

การแบ่งกลุ่มยาความเสี่ยงสูงโดยทั่วไป ได้แก่

หมายเหตุ : การกำหนดรายชื่อและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับยาที่มีความเสี่ยงสูง ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงพยาบาล

มาตรการที่แนะนำในกระบวนการใช้ยาที่มีความเสี่ยงสูง
1. การคัดเลือกยา
ต้องมีการจำกัดรูปแบบ ความเข้มข้น ความแรงของยาอย่างเหมาะสมในการคัดเลือกยาเข้าบัญชียาโรงพยาบาล

2. การจัดซื้อจัดหา
จัดซื้อยาที่มีฉลากชัดเจน อ่านง่าย หลีกเลี่ยงการจัดซื้อยาที่มีลักษณะยาหรือลักษณะบรรจุผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน

3. การเก็บรักษา

  • เก็บยาให้เป็นสัดส่วน และบริเวณที่เก็บยา HAD ต้องมีป้ายเตือนยา High Alert Drugs ให้เห็นชัดเจน
  • จัดทำวิธีที่สามารถแยกความแตกต่างของยาที่มีความคล้ายคลึงกัน ทั้งในแง่ของบรรจุภัณฑ์และชื่อยาให้ชัดเจน เช่น การแยกเก็บยาที่มีบรรจุภัณฑ์คล้ายกันให้ห่างกันพร้อมทั้งระบุชื่อยาที่ชั้นเก็บยาให้ชัดเจน หรือกรณีที่ชื่อยาคล้ายคลึงกัน ควรใช้ชื่อสามัญทางยาหรือเขียนชื่อยาให้เห็นความแตกต่างชัดเจน เช่น DOPAmine และ DOBUTAmine เพื่อลดความคลาดเคลื่อนในการเตรียมยาหรือจ่ายยา
  • ให้มีการสำรองยา HAD เฉพาะหน่วยงานที่กำหนดเท่านั้น
  • กรณีเป็นยาเสพติดให้เก็บเข้าตู้ล็อกกุญแจตลอดเวลา

4. การสั่งใช้ยา

  • ผู้สั่งใช้ยาควรจะระบุข้อบ่งใช้ที่เฉพาะเจาะจงภายในการสั่งใช้ยาในกลุ่มนี้
  • ไม่สั่งยาที่มีความเสี่ยงสูงโดยวาจา หากจำเป็นอย่างยิ่งเช่นในขณะทำ CPR ต้องมีมาตรฐานทวนสอบการรับคำสั่ง
  • ไม่ใช้ตัวย่อชื่อยา หรือจุดทศนิยมในการเขียนคำสั่งยา
  • คำสั่งยาต้องชัดเจนทุกอย่าง ทั้งขนาด ความแรง สารน้ำที่ใช้ อัตราเร็วที่ให้ยา ความถี่ โดยเฉพาะการสั่ง ใช้ยาที่มีวิธีใช้ต่างจากยาทั่วไป เช่น การสั่งใช้ Methotrexate สัปดาห์ละครั้ง ควรมีการระบุวันที่ใช้ยานั้นทุกครั้ง
  • มีข้อมูลผู้ป่วยร่วมในการสั่งใช้ยามากขึ้น ได้แก่

1. ยาที่ใช้ในปัจจุบัน
2. การวินิจฉัยโรค, โรคที่เป็นร่วม, ยาที่ใช้ร่วม
3. ผลทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญกับยา เช่น การทำงานของไต ตับ
4. การแพ้ยา
5. น้ำหนัก, ส่วนสูง
6. ภาวะการตั้งครรภ์ ให้นมบุตร
7. ข้อมูลอื่น ๆ ที่ต้องการเพื่อการจัดการยาที่ปลอดภัย

5. การตรวจสอบและจ่ายยา
การกำหนดยาที่มีความเสี่ยงสูง พบว่ามักเลือกยาฉีดที่อันตราย ดังนั้นเภสัชกรมีหน้าที่ช่วยทวนสอบอย่างรอบคอบ และควรมีข้อมูลสำคัญของผู้ป่วยขณะทวนสอบเพียงพอในขณะจ่ายยา
เภสัชกรมีหน้าที่

  • ช่วยทบทวนการสั่งใช้ยา เพื่อคัดกรองความเสี่ยงที่อาจหลุดรอด ถ้าไม่มีการระบุจุดประสงค์ของการสั่งใช้ยา เภสัชกรควรติดต่อกับแพทย์โดยตรง เพื่อพิจารณาเหตุผลในการใช้และตรวจสอบความถูกต้องของขนาดยาและการติดตามผู้ป่วย
  • ทบทวนความเหมาะสมทางคลินิก เช่น ผู้ป่วยได้รับการติดตามผลทางห้องปฏิบัติงานที่จำเป็น เพื่อป้องกันการเกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ หรือขนาดยาที่อาจเป็นอันตราย เป็นต้น

6. การบริหารยา
พยาบาลที่ได้รับมอบหมาย / Med Nurse

  • ตรวจสอบชื่อยา / จำนวน / ขนาดของชนิดยาที่มีความเสี่ยงสูงในใบคำสั่งการรักษาร่วมกับหัวหน้าเวรก่อนนำไปผสม / ไปให้ผู้ป่วย
  • ตรวจสอบวิธีการใช้ยา ตลอดจนข้อควรระวังและคำเตือนจากการใช้ยา (High Alert Drugs) แต่ละชนิด
  • ตรวจสอบความถูกต้องของการเตรียมยา เช่น การนับจำนวนเม็ดยาให้ถูกต้องตามขนาดยาที่จะเตรียม หรือการใช้ตัวทำละลายที่เหมาะสมในกรณีที่ต้องละลายหรือเจือจางยา

หมายเหตุ : การเตรียมยาให้มีการตรวจสอบซ้ำ ชื่อยา ความแรง ปริมาณยาที่ผสม และอัตราการให้ยา โดยพยาบาล 2 คนที่เป็นอิสระจากกัน (Independent Double Check) และเซ็นชื่อกำกับในเอกสาร 2 คน
พยาบาลที่ได้รับมอบหมาย / Med Nurse ตรวจสอบความถูกต้องตามคำสั่งการรักษา

  • ประเมินสภาพผู้ป่วยก่อนให้ยา
  • ตรวจสอบวันหมดอายุของยาก่อนให้ยาทุกครั้ง
  • ให้ยาผู้ป่วยตามแนวทาง 6R (Right Patient, Right Medication, Right Dose, Right time, Right, Route, Right Document)
  • กรณีที่เป็นยา IV

(1) การผสมยา ให้ตรวจสอบวิธีการผสม อัตราส่วนของยาที่แพทย์กำหนดในแผนการรักษาจากตารางการกำหนดอัตราส่วนของการผสมยาที่มีความเสี่ยงสูงติดไว้ประจำห้องเตรียมยาของหน่วยงาน (มาตรฐานการผสมยาในสารละลายเพื่อให้ทางหลอดเลือดดำ) และต้องตรวจสอบความถูกต้องของการเตรียมยาทุกครั้ง
(2) ก่อนการผสมยาต้องตรวจสอบวันหมดอายุของยา และเมื่อผสมยาแล้ว ตรวจสอบสี / ความขุ่นใสของยาก่อนให้ยาผู้ป่วยทุกครั้ง
(3) เมื่อผสมยาและก่อนนำไปให้ผู้ป่วย ตรวจเช็กร่วมกับหัวหน้าเวรอีกครั้ง
(4) จัดเตรียมอุปกรณ์ Syringe Pump / Infusion Pump สำหรับควบคุมการไหลของยาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง พร้อมทั้งติดป้ายเตือน High Alert Drug
(5) ยาเสพติดเป็นยาใช้เฉพาะบุคคล คือ ใช้เฉพาะผู้ป่วยคนเดียว ใช้ครั้งเดียวทิ้ง กรณีใช้จำนวนไม่หมด Amp ให้ทิ้ง และลงบันทึกพยานการทิ้ง 1 คน (เก็บ amp ยาไว้เพื่อเบิกคืน)

7. การประเมินติดตามผลลัพธ์จากการใช้ยา
โดยจัดให้มีข้อความเตือนใจและข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการติดตามการใช้ยาที่เหมาะสมอยู่ในชุดคำสั่ง, Protocols, และ Flow sheets ให้ชัดเจน

(1) กรณีเป็นยารับประทานต้องเฝ้าระวังอาการอันไม่พึงประสงค์ของยาตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่ ตามที่ระบุไว้ของยาแต่ละชนิด
(2) กรณีเป็นยาที่ให้ทางหลอดเลือดดำ

  • ตรวจเช็กสัญญาณชีพ, ประเมิน EKG (ถ้ามี), ระดับความรู้สึกตัว, การหายใจ เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากการให้ยาทุก ๆ 1 ชั่วโมง หรือตามแผนการรักษาของแพทย์
  • สังเกตอาการแพ้ยา กรณีพบว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาให้หยุดยา ประเมินผู้ป่วย และรีบรายงานแพทย์เพื่อแก้ไข พร้อมทั้งรายงานเภสัชกรในใบบันทึก ADR ปฏิบัติตามบัญชีความเสี่ยงรวมมาตรการป้องกันและแก้ไขของโรงพยาบาล เรื่องการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการให้ยา (เกิดอาการแพ้ยา)
  • แขวนป้ายแจ้งเตือนการประเมินผลลัพธ์จากการให้ยาที่มีความเสี่ยงสูงแก่ผู้ป่วยและติดสติกเกอร์สำหรับติดขวดน้ำเกลือที่ผสมยาที่มีความเสี่ยงสูง

(3) กรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาให้ดำเนินการแก้ไขและติดตามผู้ป่วยตามแนวทางปฏิบัติ เพื่อแก้ไขอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่กำหนด

เอกสารอ้างอิง

1. ผศ.ดร.ภญ.อภิฤดี เหมะจุฑา บทความรู้เรื่อง “ความปลอดภัยในการใช้ยาที่มีความเสี่ยงสูง” อภิฤดี เหมะจุฑา. (2560). ความปลอดภัยในการใช้ยาที่มีความเสี่ยงสูง (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=275 [10 มีนาคม 2564]

2. สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน).เป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยของ ประเทศไทย พ.ศ. 2561 Patient Safety Goals: SIMPLE Thailand 2018 (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://134.236.247.146:8080/edoc1/uploads/DocNum_20180807143936.pdf [10 มีนาคม 2564]

3. คู่มือการบริหารยาที่มีความเสี่ยงสูง โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า พร.โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบยาที่มีความเสี่ยงสูง

4. High Alert Drugs การปฏิบัติเกี่ยวกับยาที่มีความเสี่ยงสูง โรงพยาบาลขอนแก่น

Related Articles

การประเมินแผลกดทับ

แผลกดทับ (Pressure Ulcers) หมายถึง การบาดเจ็บของผิวหนังและ/หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง โดยส่วนมากอยู่ที่บริเวณเหนือปุ่มกระดูก ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกด (Pressure) หรือแรงกดร่วมกับแรงเฉือน (Shear) ปัจจัยภายในที่สัมพันธ์กับการเกิดแผลกดทับ มีดังนี้

Responses