เมื่อต้องใช้อินซูลิน ฉบับประชาชน

insulin เมื่อต้องใช้อินซูลิน ฉบับประชาชน

วันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี ธีมวันเบาหวานโลกปีนี้ เข้าถึง เข้าใจ รักษาไว เบาหวานไม่มีโรคแทรก

พี่เนิร์สและทีมงาน nurse soulciety ได้เห็นถึงความสำคัญของกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องใช้ยาอินซูลิน ที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาอินซูลิน อีกทั้งน้องๆยังสามารถนำความรู้ไปสื่อสารต่อกลุ่มผู้ป่วยได้อีกด้วย ไปดูกันเลย

insulin

อินซูลินคืออะไร?
อินซูลิน คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นมาเองได้ ซึ่งปกติตับอ่อนจะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินนี้ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลให้เหมาะสม ทั้งนี้ยังมีอินซูลินที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ในทางการแพทย์ในการรักษาโรคเบาหวาน ทั้งในผู้เป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 และ 2 ร่วมกับการใช้ยาชนิดอื่นๆ หรือเมื่อการใช้ยาชนิดอื่นๆ ไม่ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ หรือมีข้อบ่งห้ามในการใช้ยา

อินซูลินทำงานอย่างไร?
อินซูลิน ออกฤทธิ์โดยการนำน้ำตาลจากเลือดเข้าไปในเซลล์ของร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงาน ในผู้เป็นเบาหวานที่ขาดอินซูลิน หรืออินซูลินไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ตามปกติ หรือการดื้ออินซูลิน ทำให้เซลล์ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ เป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนเกิดเป็นโรคเบาหวาน

บุคคลกลุ่มใดจะต้องใช้อินซูลิน

  • ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 คือ ผู้ที่ตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือไม่สามารถสร้างอินซูลินได้
  • ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 คือผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมาก หรือใช้ยาชนิดรับประทานแล้ว ยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ หรือมีความผิดปกติของตับและไต
  • ผู้เป็นเบาหวานช่วงตั้งครรภ์
  • ผู้เป็นเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนทางตับ ไต และรักษาโดยยาชนิดรับประทานไม่ได้ผล
  • ผู้เป็นเบาหวานจากสาเหตุอื่น เช่น ตับอ่อนถูกทำลาย ตับอักเสบเรื้อรัง การติดเชื้อรุนแรง อุบัติเหตุรุนแรง

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอินซูลิน

  • ผู้ที่ฉีดอินซูลิน แสดงว่าเป็นหนักหรือใกล้เสียชีวิต นั้นไม่เป็นความจริง ในความเป็นจริงการรักษาโรคเบาหวาน มีเป้าหมายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ใช้ยารับประทาน และใช้ยาฉีดอินซูลิน

  • เมื่อเริ่มฉีดอินซูลินจะต้องฉีดยาไปตลอด นั้นไม่เป็นความจริง ไม่จำเป็นต้องฉีดยาไปตลอด สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งด้านอาหาร การออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ จะทำให้การตอบสนองต่อยาดีขึ้น และสามารถลดขนาดยาอินซูลินลง จนอาจจะกลับมาใช้ยาชนิดรับประทานได้

    *แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เนื่องจากตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเท่านั้น

  • การฉีดอินซูลินเป็นเรื่องยาก นั้นไม่เป็นความจริง ปัจจุบันมียาฉีดอินซูลินหลายชนิด ที่บรรจุในปากกาพร้อมใช้งาน สามารถปรับขนาดยาได้แม่นยำ มีตัวเลขแสดงขนาดยาชดเจน และใช้กับหัวเข็มที่มีขนาดเล็ก ทำให้สามารถฉีดยาได้ด้วยตนเอง มีความสะดวกสำหรับทั้งตัวผู้เป็นเบาหวาน และผู้ดูแล

  • ถ้างดอาหารไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน นั้นไม่เป็นความจริง หากผู้เป็นเบาหวานมีความจำเป็นต้องงดอาหาร ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและปรับขนาดอินซูลิน หรือเลือกชนิดอินซูลินที่เหมาะสม เนื่องจากยาฉีดอินซูลินแต่ละชนิดจะมีระยะเวลาการออกฤทธิ์และเวลาหมดฤทธิ์ที่แตกต่างกัน

  • ต้องงดอินซูลินในวันที่เจ็บป่วยหรือทานอาหารไม่ได้ นั้นไม่เป็นความจริง ในวันที่เจ็บป่วยหรือไม่สบาย ผู้เป็นเบาหวานที่ฉีดอินซูลินห้ามหยุดยา แต่ควรมีการตรวจระดับน้ำตาลให้บ่อยขึ้น และอาจจะปรับขนาดยาตามระดับน้ำตาล ในกรณีที่รับประทานได้น้อยกว่าปกติ ให้พิจารณารับประทานอาหารอื่นทดแทน แต่ถ้ารับประทานไม่ได้ อาเจียนมาก ปวดท้อง ซึม ในเด็กหรือผู้สูงอายุ แนะนำให้รีบมาพบแพทย์

  • คนอ้วนคนผอมก็ใช้อินซูลินขนาดเท่ากัน นั้นไม่เป็นความจริง ปกติความต้องการยาอินซูลินในผู้เป็นเบาหวานที่อ้วน จะใช้ขนาดยาอินซูลินมากกว่าคนผอม เนื่องจากมีภาวะการดื้ออินซูลินร่วมด้วยมากกว่า

  • การใช้ยาเบาหวาน ทำให้ตับ ไต เสื่อม นั้นไม่เป็นความจริง อินซูลินหรือยาลดระดับน้ำตาล ไม่ได้ทำให้ตับ ไตเสื่อม แต่โรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูง ความดันสูง จะมีผลต่ออวัยวะต่างๆ ทำให้เสื่อมต่อวัยอันควร เช่น ตา ไต เส้นประสาท รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ การใช้ยารักษาเบาหวาน จะช่วยชะลอการเสื่อมของไต เนื่องจากการเสื่อม เกิดจากระดับน้ำตาลที่สูง เมื่อลดระดับน้ำตาลสู่ปกติ จะสามารถชะลอการเสื่อมของไตจากโรคเบาหวานได้

ข้อควรปฏิบัติ เมื่อฉีดอินซูลิน

  • ห้ามเขย่าอินซูลินก่อนฉีด ก่อนใช้ยาควรตรวจดูลักษณะยา ถ้าเป็นชนิดน้ำใสต้องไม่หนืด ไม่มีสี ไม่ต้องเขย่าหรือคลึงก่อนฉีด ถ้าเป็นชนิดน้ำขุ่นแขวนตะกอน ให้คลึงขวดยาบนฝ่ามือทั้งสองข้างเบาๆ เพื่อให้ยาผสมกันทั้งขวด และห้ามเขย่าขวดยาเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดฟอง และจะต้องไล่อากาศก่อนฉีดยา

  • ไม่ควรฉีดอินซูลินบริเวณเดิมซ้ำทุกวัน ไม่ควรฉีดอินซูลินซ้ำตำแหน่งเดิมๆ เพราะจะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นแข็ง เป็นไต และการดูดซึมของยาอินซูลินลดลง ควรเปลี่ยนตำแหน่งฉีดยา โดยฉีดห่างจากตำแหน่งเดิมประมาณ 1 นิ้ว

  • บริเวณที่สามารถฉีดอินซูลินได้ คือบริเวณหน้าท้อง ต้นแขน หน้าขา และสะโพก ซึ่งบริเวณที่อินซูลินดูดซึมได้ดีที่สุด คือ บริเวณหน้าท้อง รองลงมา คือ หน้าขา และต้นแขน ตามลำดับ

  • ไม่ควรคลึงบริเวณที่ฉีดอินซูลินหลังฉีดยา หลังจากฉีดอินซูลินแล้ว ไม่ควรนวดคลึงหรือถูบริเวณที่ฉีด เพราะจะทำให้การดูดซึมของยาเร็วไป หากมีเลือดออกบริเวณที่ฉีดอินซูลิน แนะนำให้ใช้สำลีแห้ง กดลงบนตำแหน่งที่ฉีดก็พอ

  • ไม่ควรใช้หัวเข็มฉีดอินซูลินซ้ำ โดยปกติการใช้หัวเข็มฉีดอินซูลิน ควรใช้ 1 หัวต่อ 1 ครั้ง แล้วทิ้ง หากจำเป็นจะต้องใช้ซ้ำ ต้องมั่นใจว่าหัวเข็มสะอาดและไม่อุดตัน โดยใช้ซ้ำไม่เกิน 5 ครั้ง ไม่ต้องทำความสะอาดหัวเข็ม เนื่องจากจะทำให้ซิลิโคนที่เคลือบอยู่นั้นหลุดออกไป ก่อนจะนำหัวเข็มไปทิ้ง ควรปิดปลอกเข็มให้สนิทและหาภาชนะที่มิดชิดใส่รวมไว้ให้เรียบร้อย นำมาให้โรงพยาบาลกำจัดทิ้ง เนื่องจากเป็นขยะติดเชื้อและวัสดุมีคม

  • การเก็บรักษาปากกาฉสีดอินซูลิน ปากกาฉีดอินซูลินที่เปิดใช้แล้วไม่ต้องเก็บในตู้เย็น ปากกาอินซูลินที่เปิดใช้แล้ว ให้เก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 25-30 องศาเซลเซียส ไม่จำเป็นต้องนำเข้าตู้เย็น อย่าให้ถูกแดดและความร้อน จะมีอายุการใช้งานประมาณ 1 เดือน นับจากวันแรกที่เปิดใช้ยา ขึ้นอยู่กับชนิดของอินซูลิน โปรดตรวจสอบข้อมูลในเอกสารกำกับยา ส่วนปากกาอินซูลินที่ยังไม่เปิดใช้ ให้เก็บไว้ในตู้เย็น อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส จะมีอายุการใช้งานตามวันหมดอายุที่ระบุบนฉลากยา

แหล่งข้อมูล

  1. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  2. แหล่งข้อมูลสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 : www.t2dminsulin.com
  3. บทความเรื่องการฉีดอินซูลินด้วยตนเอง พญ.พร้อมพรรณ พฤกษากร

Related Articles

วันเบาหวานโลก

14 พฤศจิกายนของทุกปี คือ วันเบาหวานโลก ถูกจัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาของโรคเบาหวาน เนื่องจากพบว่าประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มเป็นเบาหวานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ