Long Covid เจ็บ…แต่ไม่จบของคนเคยติดเชื้อ covid-19

Long Covid

Long Covid คืออะไร ?

อ้างอิงจากนิยามองค์การอนามัยโลก ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ระบุว่า เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 หลังจากรักษาหายแล้ว แต่หลายคนยังรู้สึกเหมือนยังไม่หายดี ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมีความหลากหลายและอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่ หรือเป็นอาการที่หลงเหลืออยู่หลังรักษาหาย ส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน เราเรียกภาวะนี้ว่า “โควิดระยะยาว (Long COVID)” หรือ โพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition)

Long Covid

ทำไมถึงเกิดภาวะ “ลองโควิด” ได้

กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า สามารถพบได้ถึง 30-50% เพราะการติดเชื้อโควิด-19 นั้นจะนำไปสู่กลไกการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและเกิดการอักเสบในร่างกาย เมื่อร่างกายของผู้ป่วยสามารถกำจัดเชื้อโรคแล้ว ไม่ว่าจะกำจัดได้เอง หรือต้องอาศัยยาต้านไวรัสช่วยก็ตาม แต่ภูมิคุ้มกันและการอักเสบก็อาจจะยังไม่เข้าที่เข้าทาง ประกอบกับภาวะทางร่างกายอื่นๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนหลังจากได้รับยากดภูมิเป็นเวลานาน ผลข้างเคียงที่ได้รับจากยารักษาที่จำเป็นต้องใช้รักษา ความเครียดทั้งทางกายทางใจที่ต้องเผชิญระหว่างเจ็บป่วย และยังอาจจะต้องเผชิญต่อไปหลังจากหายป่วยกลับมาบ้านได้แล้ว ทุกอย่างเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วก็ส่งผลให้การติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้หายเป็นปลิดทิ้งอย่างที่ควรเป็น

อาการลองโควิดที่พบบ่อย ได้แก่

  • อ่อนเพลียเรื้อรัง
  • เหนื่อยง่าย อ่อนแรง
  • หายใจลำบาก หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม
  • ปวดศีรษะ
  • สมาธิจดจ่อลดลง
  • ความจำผิดปกติ
  • ไอ เจ็บแน่นหน้าอก
  • ปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่อ
  • ท้องร่วง ท้องเสีย
  • จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
  • ซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล

ภาวะแทรกซ้อนจากลองโควิด

ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวที่อาจเกิดจาก ลองโควิด (Long COVID) ได้แก่

  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
  • สมองล้า (Brain Fog)
  • ภาวะพร่องทางระบบประสาทอัตโนมัติ (Dysautonomia)
  • ภาวะ Guillain – Barre Syndrome
  • โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)
  • โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
Long Covid

การรักษาลองโควิด และการดูแลตนเองเมื่อหายจาก Covid-19 แล้ว

ปัจจุบันภาวะลองโควิด (Long COVID) ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่สามารถทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายและจิตใจของผู้ที่หายจากโควิด-19 ได้ แพทย์จึงแนะนำให้สังเกตตัวเองอย่างละเอียด

การหมั่นสังเกตความผิดปกติของตนเอง เช่น มีไข้ ไอ เหนื่อยง่าย เพราะแพทย์จะรักษา ลองโควิด (Long COVID) ตามอาการเป็นหลัก แม้จะหายดีกลับบ้านได้แล้ว ถ้าหากเกิดมีอาการผิดปกติชัดเจน เช่น ไข้สูง ไอมาก หอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืดเป็นลม แขนขาอ่อนแรง ควรมาตรวจแยกโรคก่อนว่ามีภาวะเร่งด่วนที่ต้องดูแลรักษาทันทีหรือไม่ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย มีลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หรือว่าอาจเป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 เลยก็ได้ ดังนั้นหากมีอาการแล้วพบแพทย์โดยเร็ว ย่อมช่วยให้รักษาได้ทันท่วงที นอกจากนี้การตรวจร่างกายเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยให้รู้ทันความผิดปกติที่เกิดขึ้นและดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม

ผู้ป่วยที่มีเชื้อลงปอด นอนโรงพยาบาลนาน ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบรุนแรง ต้องได้รับยาต้านไวรัส นอนโรงพยาบาลนานๆ ต้องได้รับออกซิเจน หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ ควรได้รับการดูแลต่อเนื่องจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจร่วมกับทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือเพิ่งตรวจพบโรคประจำตัวใหม่ตอนเข้ารับการรักษาโควิด-19 เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ก็ควรกลับเข้ามารับการประเมินสุขภาพให้ครบถ้วนอีกครั้งหนึ่ง และควรรับการรักษาโรคประจำตัวนั้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือมีอาการเล็กน้อย เมื่อหายจากการติดเชื้อแล้วควรสังเกตอาการของตนเอง หากรู้สึกว่าร่างกายยังอ่อนเพลีย ฟื้นตัวได้ไม่เท่าเดิม อาจจะลองมาตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็คผลเลือด เอกซเรย์ปอด ค่าตับ ค่าไต ค่าสารอักเสบต่างๆ รวมถึงระดับวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย เพื่อวางแผนในการดูแลและฟื้นฟูตัวเองให้ร่างกายกลับมามีประสิทธิภาพดังเดิม ทำให้ร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น ลดโอกาสป่วยง่ายและติดเชื้อซ้ำ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย และอาจพิจารณาวิตามินเสริม ถ้าหากประเมินแล้วว่าอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

ผู้ป่วยที่มีความเครียด อ่อนล้า ปัญหาเรื่องการนอนที่สะสมมาตั้งแต่ตอนที่ติดเชื้อ สามารถติดต่อพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ค่อยๆ กลับมาดีดังเดิมได้

ผู้ป่วยที่เพิ่งหายป่วยจากโควิด-19 ยังไม่แนะนำให้ออกกำลังกายมากเกินไปและออกกำลังกายจนเหนื่อยเกินไป ควรปรับให้เป็นการออกกำลังแบบเบา ๆ เช่น เคยวิ่งอาจปรับเป็นเดินก่อน เป็นต้น เพื่อให้ปอดไม่ทำงานหนักจนเกินไปและร่างกายค่อย ๆ ฟื้นตัวและปรับตัวกลับสู่สภาวะที่แข็งแรง

ผู้ป่วยที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิดหรือยังฉีดไม่ครบตามกำหนด ควรรับการฉีดวัคซีนได้ภายใน 1-3 เดือน หลังจากติดเชื้อโควิด-19 ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ทำให้โอกาสติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำมีน้อยมาก แต่ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นโดยธรรมชาตินี้ ก็จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างครบถ้วน วางแผนในการรับวัคซีนให้ครบหลังจากติดเชื้อแล้ว 3 เดือน โดยปัจจุบันมีสามารถตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 หลังจากการติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนได้แล้ว แม้จะยังไม่มีข้อตกลงถึงค่าที่ชัดเจนว่า ต้องสูงแค่ไหนถึงจะป้องกันการติดเชื้อได้จริง และค่าที่สูงก็ไม่อาจการันตีได้ว่าจะไม่ติดเชื้อซ้ำ แต่ก็อาจบอกแนวโน้มของการสร้างระดับภูมิคุ้มกันได้ในผู้ที่ต้องการทราบค่าภูมิคุ้นกันต่อโควิด-19 ของตนเอง

แหล่งข้อมูล : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, รศ. พญ. พรรณพิศ สุวรรณกูล แพทย์อายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

Related Articles

หาทุนเรียนพยาบาล ที่ไหนได้บ้าง

ใฝ่ฝันอยากเป็น นางฟ้าในชุดขาว แต่ไม่รู้ว่าทุนเรียนพยาบาลหาได้จากที่ไหนบ้าง พี่เนิร์สคัด 5 สถาบันแจกทุนเรียนพยาบาลมาให้ทุกคนแล้ว ตามอ่านด้านล่างนี้ได้เลยค่าา

11 มีนาคม 2564 วันไตโลก

คณะกรรมการดำเนินงานวันไตโลก จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคไต ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลก