ดูแลเด็กอย่างไรให้ปลอดภัยจาก COVID-19

ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พ่อแม่รู้สึกกังวลต่อสุขภาพของเด็ก พี่เนิร์สเลยจะมาบอกวิธีการดูแลเด็กในช่วงโควิด-19 ให้ทุกคนทราบกันค่ะ

อาการแสดงโควิดในเด็ก
เชื้อไวรัสโควิดจะเดินทางลงไปที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โดยเด็กจะมีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดา เช่น มีไข้ตัวร้อน เจ็บคอ อาจมีหรือไม่มีน้ำมูก คัดจมูก แต่จะมีอาการไอแห้ง ๆ ไอรุนแรงจนถึงขั้นปอดบวม หายใจล้มเหลว

เชื้อไวรัสโควิดเข้าสู่ร่างกายเด็กได้อย่างไร?
เกิดจากการไอ จาม พูดคุย หรือสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ โดยเชื้อไวรัสนั้นสามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายของเด็ก ๆ ได้ 3 ช่องทาง คือ

1. เยื่อบุตา : เด็ก ๆ อาจไปสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ ที่ติดเชื้อแล้วนำมาขยี้ตา
2. จมูก : โดยพฤติกรรมเด็กส่วนใหญ่จะชอบแคะ จับ ขยี้จมูก
3. ปาก : นำมือเข้าปาก อมของเล่น หรือใช้ภาชนะร่วมกันกับผู้ใหญ่

คุณพ่อคุณแม่จะดูแลเด็กอย่างไรให้ปลอดภัยจาก COVID-19?

  1. เมื่อกลับถึงบ้าน ผู้ปกครองควรอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนไปพบลูก
  2. หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร

3. เด็ก ๆ ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน โดย..

  • เด็กอายุ 1-2 ปี หากใส่หน้ากากอนามัยต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแล ควรใส่หน้ากากอนามัยด้วยความระมัดระวังและใส่ในระยะเวลาสั้นที่สุด เนื่องจากเด็กอาจมีปัญหาหายใจลำบาก
  • เด็กอายุมากกว่า 2 ปี สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ และถอดหน้ากากอนามัยออกได้เองเมื่อรู้สึกอึดอัด ยกเว้นเด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง หรือระบบทางเดินหายใจ
  • เด็กที่มีโรคประจำตัวที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรคทางระบบประสาท หรือทางเดินหายใจบกพร่องรุนแรงที่ไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ ผู้ปกครองควรเคร่งครัดเรื่องเว้นระยะห่างกับผู้อื่น ใช้รถเข็นที่มีผ้าคลุมปิดหน้า หรือใช้เครื่องมือวิเคราะห์ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดงร่วมด้วย
  • เด็กควรใส่หน้ากากอนามัยที่มีขนาดพอดี คลุมจมูก ปากและคาง แต่ไม่แนะนำให้เด็กใส่หน้ากากอนามัยชนิด N 95 และหน้ากากที่ใช้ในห้องผ่าตัด เพราะจะทำให้หายใจลำบากและปอดของเด็กจะอ่อนแอลง นอกจากนี้หน้ากากที่มีสีสันหรือรูปการ์ตูนต่าง ๆ ก็ไม่ควรให้เด็กสวมใส่ เนื่องจากอาจมีการสูดดมเอาสารระเหยของสีเหล่านั้นเข้าไป
  1. มีอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ภาชนะร่วมกันระหว่างคนภายในบ้าน เช่น ชาม ช้อน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว และของใช้อื่นๆ

5. สร้างสุขอนามัยที่ดีให้ลูก เช่น ไม่นำมือมาขยี้ตา แคะจมูก หรือนำมือเข้าปาก รับประทานอาหารปรุงสุก ล้างมือบ่อย ๆ อย่างถูกวิธี

6. ดูแลสุขอนามัยของบ้าน และจัดสิ่งแวดล้อมให้ดี มีอากาศถ่ายเทสะดวก หมั่นทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ ของเล่นเด็ก และที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ

7. หากเด็กมีโรคประจำตัว ควรรับประทานยาสม่ำเสมอ และดูแลปฏิบัติตนตามแพทย์สั่ง

8. สร้างภูมิต้านทานโรค โดยพาเด็กไปรับวัคซีนตามแพทย์นัด

แหล่งข้อมูล : คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, โรงพยาบาลนครธน, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

Related Articles

เบาหวานอย่าเสี่ยงกับไข้หวัดใหญ่ดีกว่า

จากข้อมูลสถิติของกรมควบคุมโรคและสมาคมการติดเชื้อแห่งประเทศไทยพบว่า ช่วงระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยเบาหวานมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น 5-15% และเข้านอนโรงพยาบาลสูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 6 เท่า จากการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่

Responses