การใช้มาตรวัดความเจ็บปวด
สวัสดีค่ะ พี่น้อง nurse soulciety ทุกท่าน การประเมินความเจ็บปวดของผู้ป่วย เป็นบทบาทหนึ่งของพยาบาลที่จะทำการประเมินและจัดการกับความเจ็บปวดให้ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม พี่เนิร์สอยากมาแชร์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือที่พยาบาลใช้ประเมินความเจ็บปวดของผู้ป่วยแต่ละราย เราเรียกเครื่องมือนี้ว่า มาตรวัดความเจ็บปวด มาติดตามดูกันได้เลยค่ะ
มาตรวัดความเจ็บปวด หมายถึง เป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดความเจ็บปวด เนื่องจากความเจ็บปวดเป็นนามธรรม ไม่อาจจับต้องได้บางครั้งผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก ผู้ป่วยวิกฤต หรือผู้ป่วยที่ขยับเขยื้อนไม่ได้ เป็นต้น จำเป็นที่เราต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการวัดสำหรับผู้ป่วยเหล่านี้
เครื่องมือในการประเมินความปวด ได้แก่
- Neonatal Infant Pain Scale (NIPS) สำหรับทารกแรกเกิดถึง 1 ปี
- Face Leg Activity Crying Consolidation ; FLACC Scales สำหรับผู้ป่วยเด็กอายุ1 ปีขึ้นไปถึง 3 ปี และผู้ป่วยเด็กที่มีความผิดปกติทางสมอง
- FACE Scales สำหรับผู้ป่วยเด็กอายุ 3 ปี ขึ้นไปจนถึง 8 ปี และผู้ใหญ่ที่รู้สึกตัว สติสัมปชัญญะสมบูรณ์แต่ไม่สามารถบอก Numeric Rating scales ได้
- Numeric Rating scales (NRS) ใช้ประเมินผู้ป่วยที่มีอายุ 8 ปีขึ้นไป
- Behavioral Pain Assessment Scale สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยตนเองได้ในหอผู้ป่วยวิกฤต
1. Neonatal Infant Pain Scale (NIPS) สำหรับทารกแรกเกิดถึง 1 ปี
ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปี สามารถประเมินระดับความปวดได้โดยใช้ Neonatal Infant Pain Scale (NIPS) เมื่อประเมินระดับความเจ็บปวดด้วยวิธีนี้ แล้วรวบรวมคะแนน (จะสามารถรวมคะแนนความเจ็บปวดได้ตั้งแต่ 0-7 คะแนน) คะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 4 บ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีความเจ็บปวดต้องให้ยา
2. Face Leg Activity Crying Consolidation ; FLACC Scales
สำหรับผู้ป่วยเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปถึง 3 ปี และผู้ป่วยเด็กที่มีความผิดปกติทางสมอง เมื่อประเมินระดับความเจ็บปวดด้วยวิธีนี้ แล้วรวบรวมคะแนน (จะสามารถรวมคะแนนความเจ็บปวดได้ตั้งแต่ 0-10 คะแนน) โดย
0 = ผ่อนคลาย
1-3 = ปวดเล็กน้อย
4-6 = ปวดปานกลาง
7-10 =ปวดมาก
3. FACE Scales
สำหรับผู้ป่วยเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไปจนถึง 8 ปี และผู้ใหญ่ที่รู้สึกตัว สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ แต่ไม่สามารถบอก Numeric Rating scales ได้ เครื่องมือตรวจเป็นรูปหน้าที่มีความสุข เศร้า และร้องไห้ ให้ผู้ป่วยดูรูปภาพและชี้/บอกให้ทราบว่าขณะนี้รู้สึกว่าอาการปวด อยู่ในภาพใด (ห้ามใช้รูปใบหน้าในแบบประเมินเปรียบเทียบกับใบหน้าของผู้ป่วย)
การแปลผล
- 0 หมายถึง ไม่มีอาการปวด
- 2 หมายถึง ปวดเล็กน้อย ไม่มีความกังวล ไม่มีความรู้สึกทุกข์ทรมานแต่อย่างใด
- 4 หมายถึง ปวดเล็กน้อย แต่เริ่มรู้สึกทุกข์ทรมานจากอาการปวดพอสมควร
- 6 หมายถึง ปวดปานกลาง รู้สึกทุกข์ทรมานจากอาการปวดพอสมควร มีความกังวลมากขึ้น พักผ่อนได้ไม่เพียงพอ เริ่มมีความรู้สึกว่าไม่สามารถทนได้
- 8 หมายถึง ปวดมาก รู้สึกทุกข์ทรมานจากอาการปวดมาก ทำให้เกิดความกังวลมากและไม่สามารถนอนหลับพักผ่อนได้
- 10 หมายถึง ปวดรุนแรงจนไม่สามารถทนได้
4. Numeric Rating scales (NRS)
ใช้ประเมินผู้ป่วยที่มีอายุ 8 ปีขึ้นไป เป็นการใช้ตัวเลขมาช่วยบอกระดับความรุนแรงของอาการปวด ชุดตัวเลข จาก 0 – 10 คะแนน อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจก่อนว่า 0 หมายถึงไม่มีอาการปวด และ 10 คือปวดมากที่สุด ให้ผู้ป่วยบอกถึงตัวเลขที่แสดงถึงความปวดที่ผู้ป่วยมีขณะนั้นๆ
การแปลผล
- คะแนน 0 ไม่ปวดเลย
- คะแนน 1-3 แสดงว่าไม่ปวดถึงปวดเล็กน้อย
- คะแนน 4-6 แสดงว่าปวดปานกลาง
- คะแนน 7-10 แสดงว่าปวดมากถึงปวดมากที่สุด
5. Behavioral Pain Assessment Scale
*การประเมินความตึงตัวของกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่มีปัญหาไขสันหลัง ให้ทำเหนือระดับที่มีการบาดเจ็บ ประเมินผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกด้านที่ไม่เป็นโรค
**ไม่สามารถประเมินการส่งเสียงในผู้ป่วยที่มีการช่วยหายใจ กรณีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจให้เป็น ไม่ส่งเสียงผิดปกติ
การประเมินความเจ็บปวดจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วย
*สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยตนเองได้ในหอผู้ป่วยวิกฤต หรือผู้ป่วยที่ระดับความรู้สึกตัวน้อยลง ไม่สามารถบอกระดับความปวดได้ด้วยตนเอง โดยดัดแปลงจาก FLACC scale สามารถใช้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยใช้การสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วย แล้วให้รวมคะแนนรวม
- 0 = ไม่มีหลักฐานว่าปวด
- 1-3 = ปวดน้อย
- 4-6 = ปวดปานกลาง
- 7 ขึ้นไป = ปวดรุนแรง
- คะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 4 ให้จัดการความเจ็บปวด
ก่อนจะลากันไป พี่เนิร์สอยากฝากข้อสำคัญในการประเมินความเจ็บปวด ดังนี้ค่ะ
ถ้าสามารถให้ผู้ป่วยประเมินความเจ็บปวดด้วยตนเองได้จะดีที่สุด กรณีที่สงสัยว่าปวดจริงหรือไม่ การให้ยาแก้ปวดอาจช่วยทั้งการวินิจฉัยและการรักษาความเจ็บปวดได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
แหล่งข้อมูล :
เสาวนิตย์ กมลวิทย์,ปิ่นอนงค์ รัตนปทุมวงศ์.(2557). การพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกด้านการจัดการความปวดในผู้ป่วย
หลังผ่าตัดในโรงพยาบาลระนอง.วารสารกองการพยาบาล,41(2),23-40.
นุสรา ประเสริฐศรี,ยุพาภรณ์ ติรไพรวงศ์.(2556). การจัดการความปวด:ความหลากหลายวัฒนธรรม.วารสารการพยาบาล
และการศึกษา,6(2),2-9.
วรางคณา อ่ำศรีเวียง.(2558). การจัดการความปวดในผู้ป่วยวิกฤต:บทบาทที่ท้าทายสำหรับพยาบาล.วารสารการพยาบาล
ทางการศึกษา,8(2),1-8.
อนงค์ สุทธิพงษ์,อัจฉรา อ่วมเครือ,ปาริฉัตร อารยะจารุ.(2556). การพัฒนาระบบการจัดการความปวดที่มีเฉพาะต่อผู้ป่วย
โรงพยาบาลราชบุรี.วารสารกองการพยาบาล,40(3),85-99.
ปิยศักดิ์ วิทยบูรณานนท์,หฤทัย โชติสุขรัตน์.(2559). ความปวดในเด็ก.วิชรเวชสารและวารสารเวชศาสตร์เขตเมือง
,60(2),135-145.
Tsze DS, Hirschfeld G, von Baeyer CL, Bulloch B, Dayan PS. Clinically significant differences in acute pain measured on self-report pain scales in children. Acad Emerg Med. 2015 Apr;22(4):415-22. doi: 10.1111/acem.12620. Epub 2015 Mar 13.
Tsze DS, Hirschfeld G, Dayan PS, Bulloch B, von Baeyer CL. Defining No Pain, Mild, Moderate, and Severe Pain Based on the Faces Pain Scale-Revised and Color Analog Scale in Children With Acute Pain. Pediatr Emerg Care. 2016 May 25.