ภาวะหลอดเลือดดำอักเสบ (Phlebitis)

ภาวะหลอดเลือดดำอักเสบ (Phlebitis Scale)

สวัสดีค่ะพี่น้อง nurse soulciety ทุกท่าน การให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ มีภาวะแทรกซ้อนที่ต้องเฝ้าระวัง ต้องคอยติดตามประเมินเพื่อป้องกันและรักษาให้ได้อย่างทันท่วงทีจากภาวะแทรกซ้อนนี้ ใครพอจะทราบบ้างคะว่าคืออะไร?? ใช่แล้วค่ะ ภาวะหลอดเลือดดำอักเสบ (Phlebitis) นั่นเอง พี่เนิร์สจะพาทุกท่านมาประเมินภาวะหลอดเลือดดำอักเสบ จากการใช้ Phlebitis Scale และการให้การพยาบาลในแต่ละระดับ ตามมาดูกันเลย!!

ภาวะหลอดเลือดดําอักเสบ ( Phlebitis) หมายถึง การอักเสบของหลอดเลือดดําบริเวณที่ให้สารน้ำ/เลือด/ส่วนประกอบของเลือด และยา มีลักษณะปวด บวม แดง ร้อน คลําเส้นเลือดดําจะได้รอยนูนบริเวณที่แทงเข็ม หรือคลําเส้นเลือดดําได้เป็นเส้นแข็งเหนือตําแหน่งที่แทงเข็ม โดยมีการแบ่งระดับความรุนแรงเป็น 5 ระดับ

การป้องกันภาวะ Phlebitis

  • เลือกเข็ม (catheter) ที่มีขนาดและความยาวเหมาะสมกับหลอดเลือดดำ
  • หลีกเลี่ยงการแทงเข็มบริเวณตำแหน่งข้อพับ บริเวณที่มีการเคลื่อนไหว บริเวณขา ปุ่มกระดูก และนิ้วมือ
  • การให้สารละลายทางหลอดเลือดดำส่วนปลายที่เหมาะสม สารละลายดังกล่าวต้องมีค่า pH ไม่น้อยกว่า 5 หรือไม่มากกว่า 9
  • ค่า osmolality ไม่เกิน 900 มิลลิออสโมล หรือค่าความเข้มข้นของน้ำตาลไม่เกิน 10% dextrose
  • มีการเตรียมผิวหนังบริเวณที่แทงเข็มให้สะอาดก่อนที่จะแทงเข็มโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ scrub บริเวณที่จะแทงเข็ม ปล่อยให้แห้งเอง ห้ามพัดโบก เป่า และห้ามสัมผัสบริเวณที่แทงเข็มหลังทำความสะอาด ก่อนที่จะแทงเข็ม
  • ใช้เทคนิคปลอดเชื้อทุกขั้นตอนในการบริหารสารละลายทางหลอดเลือดดำ
  • ยึดบริเวณตำแหน่งที่แทงเข็มให้แน่น เพื่อลดการเคลื่อนไหวบริเวณตำแหน่งที่แทงเข็ม
Phlebitis Scale

การประเมินและให้การพยาบาล

1. เมื่อเกิดภาวะ Phlebitis จะประเมินหลอดเลือดดำตำแหน่งที่แทงเข็ม โดยการคลำบริเวณผิวหนัง สังเกตอาการและอาการแสดงของการเกิดหลอดเลือดดำอักเสบโดยใช้ Phlebitis scale : Intravenous Nurse Society (INS)

2. ค้นหาสาเหตุของการเกิด phlebitis ได้แก่

  • จากสารเคมี ในน้ำหรือยาที่ได้รับ (chemical phlebitis)
  • จากการบาดเจ็บของผนังหลอดเลือด (mechanical phlebitis)
  • จากการติดเชื้อ (bacterial phlebitis)

3. ยุติการให้สารน้ำและถอดเข็มโดยพยาบาลวิชาชีพเท่านั้น

4. เปลี่ยนหลอดเลือดดำที่ให้สารละลายใหม่ หลีกเลี่ยงการแทงหลอดเลือดดำตำแหน่งเดิม

5. ประคบด้วยความเย็นหรือร้อนบริเวณ phlebitis ตามชนิดของยาหรือสารน้ำที่ได้รับ เป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง

6. ประเมินตำแหน่งที่ให้สารน้ำต่ออีก 48 ชั่วโมงหลังจากการยุติการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ และแนะนำให้ผู้ป่วย/ญาติ/ผู้ดูแล ประเมินอาการและอาการแสดงของ phlebitis

7. ขออนุญาตผู้ป่วยถ่ายรูปบริเวณที่มีภาวะหลอดเลือดดำอักเสบ และรายงานอุบัติการณ์เพื่อเป็นข้อมูลในการทบทวนและพัฒนาแนวทางการปฏิบัติการพยาบาล รายงานให้แพทย์ทราบเมื่อเป็น Phlebitis scale ระดับ 3 ขึ้นไปหรือตามความเหมาะสม

แหล่งข้อมูล :

  • ชมรมเครือข่ายพยาบาลผู้ให้สารน้ำแห่งประเทศไทย.(2561).แนวทางการพยาบาลผู้ป่วยได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ (พิมพ์ครั้งที่1) (หน้า1-50).กรุงเทพ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดพรี-วัน.
  • วิมลวัลย์ วโรฬาร.(2560).หลอดเลือดดำอักเสบในผู้ป่วยเด็ก : การป้องกันและการดูแล.วารสารพยาบาลโรคหัวใจและทรวงอก,1 (มกราคม-มิถุนายน),16-28.
  • INS.(2016).Infusion Therapy Standards of Practice [Electronic version].Journal of Infusion Nursing. January/February, 39(1S), s1-159.

Related Articles

การประเมินแผลกดทับ

แผลกดทับ (Pressure Ulcers) หมายถึง การบาดเจ็บของผิวหนังและ/หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง โดยส่วนมากอยู่ที่บริเวณเหนือปุ่มกระดูก ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกด (Pressure) หรือแรงกดร่วมกับแรงเฉือน (Shear) ปัจจัยภายในที่สัมพันธ์กับการเกิดแผลกดทับ มีดังนี้