เบาหวานกับความเชื่อผิดๆ
โรคเบาหวาน คือโรคที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังเป็นเวลานานจะมีผลแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดหัวใจ ตา ไต สมอง และระบบประสาทส่วนปลาย โรคเบาหวานเกิดจากกรรมพันธุ์ ร่วมกับพฤติกรรมในการรับประทานอาหารที่มีแป้งและไขมันมาก หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณมาก รวมทั้งการไม่ออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนยังมีความเข้าใจหรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้องในเรื่องของโรคเบาหวาน
- ทานของหวานมากเกินไป จะทำให้เป็นโรคเบาหวาน
สำหรับคนที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว เช่นมีภาวะโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง มีประวัติพ่อแม่ หรือญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน จะถือว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าคนทั่วไป หากรับประทานของหวานมากเกินความต้องการของร่างกาย แต่ถึงแม้ว่าเราจะมีความเสี่ยงสูงแต่ถ้าควบคุมอาหารได้ดี หลีกเลี่ยงการรับประทานแป้งและน้ำตาลในปริมาณมาก เราก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานน้อยลง เนื่องจากการเป็นเบาหวานไม่ได้ขึ้นอยู่กับของหวาน 100% เพราะต่อให้เราไม่กินของหวาน แต่เราทานอาหารประเภทข้าว แป้งหรือไขมันมากจนเกินไป ก็อาจทำให้เกิดโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมให้ร่างกายดื้ออินซูลิน และทำให้เป็นเบาหวานได้ในที่สุด แม้จะไม่ได้กินของหวานมากก็ตาม
- เป็นเบาหวาน ห้ามรับประทานของหวานโดยเด็ดขาด
ต้องบอกว่า “ไม่ถูกต้องเสมอไป” โดยผู้ป่วยเบาหวานที่ยังคุมน้ำตาลได้ไม่ดี หรือผู้ป่วยเบาหวานที่เพิ่งเป็นใหม่ๆ แนะนำให้ “งด” คือหยุดรับประทานของหวานไปก่อน เพื่อให้สามารถรักษาโรคและคุมระดับน้ำตาลให้ได้ ส่วนกรณีผู้ป่วยที่คุมระดับน้ำตาลได้ดีแล้ว สามารถรับประทานของหวานได้ แต่แนะนำเป็นการ “ทานแบบแลกเปลี่ยนอาหาร” เช่นในกรณีที่เราอยากทานขนมหวานมื้อไหน ก็ควรลดแป้ง ลดคาร์โบไฮเดรตในมื้อนั้นๆ ลง เพื่อให้เป็นการแลกเปลี่ยนกัน เพราะในแป้งก็มีน้ำตาล ของหวานก็มีน้ำตาล ถ้าเราทานคู่กัน ก็จะยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ดังนั้น เราจึงควรลดแป้งลงหากอยากทานของหวาน เพื่อให้สามารถคุมโรคและระดับน้ำตาลของตัวเองได้ดี
นอกจากนี้ การทานแบบแลกเปลี่ยนยังจะช่วยทำให้เราได้ทานอาหารได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของร่างกายมากกว่า เพราะการคุมอาหารที่เข้มมากเกินไป อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจจนทำให้เป็นผลเสียต่อร่างกายได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ใช้วิธีแลกเปลี่ยนอาหารบ่อยๆ เพราะอาจทำให้ติดรสหวานจนควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี
- คนที่เป็นเบาหวานต้องอ้วน
จริงอยู่ที่ว่าคนอ้วนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนปกติทั่วไปถึง 50% เพราะภาวะอ้วนจะทำให้ร่างกายดื้ออินซูลิน เกิดน้ำตาลสะสมในเลือดจนกลายเป็นเบาหวานในที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ “ไม่ได้หมายความว่าคนผอม คนไม่อ้วนจะเป็นโรคเบาหวานไม่ได้” เพราะหากเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ผลิตอินซูลินไม่ได้ อันนี้ต่อให้ไม่อ้วนก็เป็นเบาหวานได้เช่นกัน หรือเราอาจพบการเป็นเบาหวานได้จากกรณีอื่นๆ เช่น ถ้าพ่อกับแม่เป็นเบาหวานทั้งคู่ ลูกก็อาจเป็นเบาหวานได้ โดยเป็นได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ เลย เพราะเบาหวานเป็นโรคที่ส่งต่อได้ทางพันธุกรรม หรือเกิดตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจากแอลกอฮอล์ทำให้การสร้างอินซูลินผิดปกติไป ดังนั้น อย่าชะล่าใจว่าไม่อ้วนแล้วจะไม่มีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวาน
การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง การไม่ออกกำลังกาย มีภาวะเครียดบ่อยๆ นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าคนจะมีรูปร่างอ้วนหรือผอมก็มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานได้ทั้งนั้น ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก มีการเสียน้ำตาลไปทางปัสสาวะมาก จะมีปัญหาน้ำหนักลดและผอมแบบทรุดโทรม
- เป็นเบาหวานห้ามบริจาคเลือด
ในความเป็นจริงแล้วคนเป็นเบาหวานสามารถบริจาคเลือดได้ เพียงแต่มีข้อควรระวัง คือ ต้องบริจาคเมื่อสภาพร่างกายพร้อมเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคเบาหวานจะมีโรคแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจตีบ ฯลฯ การบริจาคเลือดจึงอาจทำให้โรคแทรกซ้อนดังกล่าวกำเริบ หรือแสดงอาการที่ส่งผลเสียต่อร่างกายได้
เลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่ใช่เลือดที่ไร้ประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ทั้งพลาสม่า เกล็ดเลือด หรือเม็ดเลือดขาว ดังนั้น คนเป็นเบาหวานจึงบริจาคเลือดได้ และเลือดที่บริจาคไปก็ใช้ประโยชน์ได้ แต่จะต้องให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่พร้อมสมบูรณ์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเอง
- ผู้ป่วยเบาหวานที่ฉีดอินซูลินรักษา แสดงว่าเข้าขั้นโคม่าอาการหนัก
การใช้อินซูลิน คือ วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้อง “อาการหนัก” ถึงฉีดอินซูลิน เพราะ การฉีดอินซูลินรักษา จะพิจารณาตามความเหมาะสมของแพทย์ อย่างในกรณีผู้ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ หรือเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แล้วมีโรคตับ โรคไตเรื้อรังร่วมด้วย จะไม่สามารถทานยาบางอย่างได้ หรือทานยาแล้วแต่ยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีพอ แพทย์ก็จะพิจารณาใช้การฉีดอินซูลินเข้าช่วย ไม่ได้จำเป็นว่าต้องอาการหนัก จึงฉีดอินซูลินรักษา
แหล่งอ้างอิง : พญาไท, https://bit.ly/3DEjl2H
Grucerna, https://bit.ly/3zEtFpZ