ซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์

ซิฟิลิส หญิง ตั้งครรภ์

ซิฟิลิส คืออะไร?

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Treponema pallidum โดยจะเริ่มแสดงอาการ 3-4 สัปดาห์ หลังจากได้รับเชื้อ ซึ่งสามารถกระจายไปยังระบบต่าง ๆ ทั่วร่างกาย หากปล่อยให้เป็นจนถึงระยะสุดท้ายโดยไม่ได้รับการรักษาเชื้อจะกระจายไปที่ระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบประสาทได้

การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ มีอาการแสดงได้หลายลักษณะ ดังนี้

1. ระยะที่ 1 (Primary syphilis) พบแผลริมแข็ง (Chancre) ที่อวัยวะเพศมักจะเป็นแผลสะอาด พื้นสีแดง แผลเดียว ขอบแข็งยกนูน อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตได้ แผลสามารถหายเองได้ใน 2-8 สัปดาห์

2. ระยะที่ 2 (Secondary syphilis) เกิดจากเชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ลักษณะที่พบ เช่น

  • ผื่น (Macular rash) กระจายทั่วไป พบได้ร้อยละ 90
  • ผื่น (Targeted lesion) ที่ฝ่ามือฝ่าเท้า
  • ผมร่วงเป็นหย่อม
  • ตุ่มนูน (Condyloma lata) ที่บริเวณอวัยวะเพศ

นอกจากนี้อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร่วมด้วยได้ อาการเหล่านี้จะพบ 4-10 สัปดาห์ หลังจากพบแผลริมแข็ง (Chancre)

3. ระยะแฝง (Latent syphilis) เกิดขึ้นเมื่อ Primary หรือ Secondary syphilis ไม่ได้รับการรักษา แต่อาการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นสามารถหายไปได้เอง อย่างไรก็ตามยังคงตรวจพบการติดเชื้อได้จากการตรวจเลือด หากเกิดภายใน 12 เดือน หลังจากมีอาการทางคลินิก เรียก Earty latent แต่หากนานกว่า 12 เดือน หรือไม่ทราบระยะเวลาที่แน่นอน เรียก Late latent ซึ่งมักจะเป็นระยะที่ตรวจพบในหญิงตั้งครรภ์

4. ระยะที่ 3 (Tertiary syphilis) เป็นระยะที่โรคดำเนินไปอย่างช้าๆ เกิดขึ้นที่อวัยวะใดก็ได้ พบได้ประมาณ 40% ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา เชื้อซิฟิลิสจะค่อยๆทำลายอวัยวะภายในร่างกาย เช่น หัวใจ หลอดเลือด เป็นต้น จะปรากฏอาการหลังรับเชื้อ 5 – 30 ปีหรือนานกว่านั้น อย่างไรก็ตามไม่ค่อยพบในสตรีวัยเจริญพันธุ์ ระยะนี้ทารกในครรภ์จะมีโอกาสติดเชื้อร้อยละ 10 กรณี เป็นซิฟิลิสระบบประสาท ( Neurosyphilis ) จะตรวจพบ CSF ผิดปกติหรือมีอาการทางระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมอง อักเสบ เส้นเลือดในสมองตีบ สูญเสียความทรงจำ เป็นต้น

ผลของการติดเชื้อในครรภ์

  1. อาจทำให้แท้ง
  2. คลอดก่อนกำหนด
  3. ทารกโตช้าในครรภ์
  4. ทารกพิการแต่กำเนิด
  5. ทารกบวมน้ำ ( fetal hydrops )
  6. อาจร้ายแรงถึงเสียชีวิตระหว่างคลอดได้

ทารกที่ติดเชื้อมักแสดงอาการในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ เช่น ซีด เกร็ดเลือดต่ำ มีน้ำในช่องท้อง หรือบวมน้ำได้ ทารกที่คลอดออกมาอาจมีภาวะตัวเหลือง จุดเลือดออกตามผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองโต เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โปรตีนรั่วทางไต หรือพบความผิดปกติที่กระดูก

การวินิจฉัย

  1. หญิงตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับการตรวจคัดกรอง เมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรก กรณีมีความเสี่ยงสูงหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคมาก จะได้รับการตรวจคัดกรองซ้ำในไตรมาสที่สามด้วย
  2. หากมีอาการควรมาพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยโดยเร็ว
  3. หญิงตั้งครรภ์ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ ควรจะได้รับการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น ตับโต รกหนา น้ำในช่องท้อง ทารกบวมน้ำ น้ำคร่ำมาก ทารกซีด อย่างไรก็ตามจากการศึกษาของ Rac และคณะ คลื่นเสียงความถี่สูงสามารถตรวจพบความผิดปกติได้เพียง 1 ใน 3 ของทารกที่ติดเชื้อในครรภ์เท่านั้น ดังนั้น การตรวจคลื่นเสียงที่ไม่พบความผิดปกติ อาจไม่สามารถรับประกันได้ว่าทารกไม่ติดเชื้อ
  4. หากมีประวัติสัมผัสคนที่ติดเชื้อภายใน 90 วัน ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบเพื่อทำการรักษาต่อไป

การรักษา

ยาที่เลือกใช้คือ Benzathine penicillin G (เบนซาทีน เพนิซิลลิน) ขนาดและปริมาณขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เพื่อกำจัดเชื้อในมารดาและป้องกันไม่ให้ทารกเป็นโรค หลังจากได้ยารักษาจะมีการตรวจติดตามระดับการติดเชื้อจากการตรวจเลือด เป็นระยะทุก 3 ถึง 6 เดือน

ซิฟิลิสสามารถป้องกันได้โดยการไม่สำส่อนทางเพศและการใช้ถุงยางอนามัย หญิงตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ เพื่อตรวจหาเชื้อ และรักษาอย่างทันท่วงที

แหล่งที่มา : รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย , ผศ.พญ.กุณฑรี ไตรศรีศิลป์ หมื่นพินิจ สูตินรีแพทย์ ศุนย์ศรีพัฒน์ , สตรีตั้งครรภ์ติดเชื้อซิฟิลิส : บทบาทพยาบาล วารสารพยาบาลทหารบก 2563 , โรงพยาบาลคามิลเลียน

Related Articles

โอบอ้อมชวนรู้จักเพื่อนพยาบาลผู้ชาย #พยาบาลหล่อบอกต่อด้วย

หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าพยาบาลมีแต่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วผู้ชายก็สามารถเรียนเป็นพยาบาลได้นะครับ แถมยังได้เป็นหนุ่มฮอต ป๊อปปูล่าที่สุดในคณะอีกด้วยนะ

Q&A น้องขวัญใจใฝ่รู้…พี่เนิร์สไขข้อสงสัย ตอน หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่อง (CNEU) คืออะไร

สวัสดีแฟนเพจ Nurse Soulciety ทุกคนค่า
หลายคนที่กำลังศึกษาพยาบาลอยู่ หรือใกล้จบ อาจจะเคยได้ยินชื่อย่อ CCNE และ CNEU แต่เอ๊ะ! มันคืออะไรกันนะ